กลุ่มรัฐมนตรีคลังและผู้นำธนาคารกลางของอาเซียน +3 ซึ่งได้แก่ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้มีกำหนดรวมตัวกันในประเทศเกาหลีใต้ในวันอังคารที่ 2 พ.ค. โดยมีแนวโน้มที่จะช่วยกันหาวิธียกระดับการป้องกันภาวะตลาดผันผวน ในช่วงที่ปัญหาในภาคธนาคารทั่วโลกและความวิตกกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ได้บดบังแนวโน้มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
ในโอกาสนี้ กลุ่มผู้นำการเงินของอาเซียน +3 ยังมีแนวโน้มที่จะหารือกันเกี่ยวกับผลกระทบที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีต่อการไหลเวียนของเงินทุนในเอเชีย
นายชูนิจิ ซูซุกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นแถลงข่าวในวันนี้ (28 เม.ย.) ว่า ญี่ปุ่น ซึ่งรับหน้าที่เป็นประธานคู่กับอินโดนีเซียในการประชุมอาเซียน +3 ในปีนี้ คาดหวังว่าจะได้หารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการสว็อปไลน์เงินตรา ซึ่งรู้จักกันในชื่อมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM)
“เราไม่ได้กำลังจะเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่เร็ว ๆ นี้ แต่เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับสถานการณ์เลวร้าย”
นายซูซุกิกล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า ญี่ปุ่นต้องการที่จะเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยพัฒนาการใช้การสว็อปไลน์เงินตราที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งอนุญาตให้เหล่าสมาชิกนำเงินทุนไปใช้ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น โรคระบาดและภัยธรรมชาติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 66)
Tags: อาเซียน, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจเอเชีย