เอกอัครราชทูตเยอรมนีเตือน ทรัมป์วางแผนปรับเปลี่ยนโครงสร้างรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

news

เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเตือนว่า รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศนั้น มีแนวโน้มจะลิดรอนความเป็นอิสระของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและสื่อมวลชนของสหรัฐฯ พร้อมทั้งยื่นอำนาจให้บรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ก้าวขึ้นมาร่วมกุมบังเหียนการปกครองประเทศ ตามที่ระบุในเอกสารลับฉบับหนึ่งซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ได้ตรวจสอบ

รอยเตอร์รายงานว่า เอกสารรายงานลับฉบับนี้ ลงวันที่ 14 ม.ค. และมีลายมือชื่อของแอนเดรียส มิคาเอลิส เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์ถึงวาระซ่อนเร้นของทรัมป์สำหรับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สองว่า จะเป็นแผนการที่ “สั่นคลอนระบบอย่างรุนแรง” และจะนำไปสู่ “การปรับโฉมระเบียบรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่” โดยมุ่งรวบอำนาจทั้งมวลไว้ที่ประธานาธิบดี ในขณะที่ลดทอนบทบาทของรัฐสภาและมลรัฐต่าง ๆ ลง

เอกสารยังระบุว่า “หลักการพื้นฐานประชาธิปไตยและกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลจะถูกบั่นทอนจนแทบไม่เหลือความหมาย ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และสื่อมวลชน จะถูกริบความเป็นอิสระและถูกบิดเบือนให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จะได้รับสิทธิ์ร่วมชี้นำการปกครองประเทศ”

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (19 ม.ค.) อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี กล่าวว่า เยอรมนีจะยังคงรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน เยอรมนีก็จะยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่เช่นกัน

เมื่อสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ZDF ของเยอรมนี สอบถามถึงจุดยืนของท่านทูตมิคาเอลิสที่มีต่อทรัมป์ แบร์บ็อคตอบว่า ท่านทูตเพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ อีกทั้งตัวทรัมป์เองก็ได้เคยประกาศแผนการส่วนใหญ่ของเขาต่อสาธารณชนอย่างเปิดเผยอยู่แล้ว

รัฐบาลเยอรมนีของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ที่กำลังจะพ้นวาระ แม้จะระมัดระวังไม่วิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์โดยตรงนับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง แต่การประเมินอย่างตรงไปตรงมาในเอกสารลับฉบับนี้ของท่านทูตก็ได้สะท้อนมุมมองที่ชัดเจนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายเยอรมนี

โดยปกติแล้ว การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะไม่ส่งผลให้เอกอัครราชทูตต้องพ้นตำแหน่งโดยอัตโนมัติ เว้นเสียแต่ว่าจะมีเหตุผลจำเป็นทางการทูตหรือเหตุผลสำคัญอื่น ๆ

เอกสารฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลฎีกาสหรัฐฯ จะมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อความพยายามของทรัมป์ในการผลักดันวาระต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม แม้ศาลฎีกาจะเพิ่งมีคำวินิจฉัยที่เอื้อต่อการขยายอำนาจของประธานาธิบดี แต่ “แม้แต่นักวิพากษ์วิจารณ์ที่เข้มข้นที่สุดก็ยังเชื่อว่าศาลฎีกาจะสามารถยับยั้งสถานการณ์เลวร้ายที่สุดไว้ได้”

มิคาเอลิสมองว่า การครอบงำกระทรวงยุติธรรมและ FBI คือกุญแจสำคัญที่จะเปิดทางให้ทรัมป์บรรลุเป้าหมายทั้งทางการเมืองและส่วนตัว ซึ่งรวมถึงการกวาดล้างผู้อพยพครั้งใหญ่ การล้างแค้นศัตรูทางการเมือง และการสร้างความคุ้มกันทางกฎหมายให้ตนเอง

เขายังระบุว่า ทรัมป์มีช่องทางทางกฎหมายอย่างกว้างขวางที่จะบังคับใช้วาระของตนกับมลรัฐต่าง ๆ โดย “แม้แต่การส่งกองกำลังทหารเข้าปฏิบัติหน้าที่ตำรวจภายในประเทศก็สามารถทำได้ หากมีการประกาศว่าเกิดสถานการณ์การก่อความไม่สงบหรือการรุกราน”

ทั้งนี้ รัฐบัญญัติ Posse Comitatus พ.ศ. 2421 ได้วางข้อห้ามไว้ว่า กองทัพของรัฐบาลกลางจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศมิได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นบางประการ

มิคาเอลิสยังคาดการณ์ถึง “การตีความบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 เสียใหม่” โดยชี้ว่า ทั้งทรัมป์และอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) กำลังดำเนินการปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์และสื่อมวลชนที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้พวกเขา

“คนหนึ่งใช้การฟ้องร้อง ข่มขู่ดำเนินคดีอาญา และแขวนใบอนุญาต ในขณะที่อีกคนหนึ่งกำลังบิดเบือนอัลกอริทึมและบล็อกบัญชีผู้ใช้” เอกสารระบุ

การที่มัสก์ออกมาแสดงการสนับสนุนพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด หลายครั้งก่อนการเลือกตั้งระดับชาติในวันที่ 23 ก.พ. ได้สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลเยอรมนีอย่างมาก แต่รัฐบาลก็ยังไม่ถึงขั้นตัดสินใจถอนตัวออกจากแพลตฟอร์มของเขาอย่างพร้อมเพรียงกัน

อนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับสหรัฐฯ ในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกนั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียด เนื่องจากสหรัฐฯ กดดันด้วยการเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงลิ่ว อีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ที่เยอรมนีไม่สามารถจัดสรรงบประมาณด้านการทหารให้ได้ตามเป้าที่นาโตกำหนด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 68)

Tags: ,