เอกชนมองเปิดเส้นทางใหม่รถไฟจีน-สปป.ลาวปลายปีนี้พลิกโฉมขนส่งคน-สินค้า

นายมงคล วิศิษฎ์สตัมภ์ กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง กล่าวเปิดงานเสวนา “รถไฟจีน-สปป.ลาว ประเมินโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย” ว่า โครงการนี้เป็นเส้นทางคมนาคมใหม่ที่จะพลิกโฉมการขนส่งทั้งคนและสินค้า ก่อนที่โครงการรถไฟไทย-จีนจะแล้วเสร็จในอีก 5-7 ปี ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่เฉพาะ สปป.ลาวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกประเทศในภูมิภาคนี้ที่จะเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาได้ดีกว่าการขนส่งรูปแบบเดิม ได้แก่ การขนส่งทางบกเส้นทาง R3A, การขนส่งทางเรือจากท่าเรือเชียงแสนไปตามแม่น้ำโขง, ขนส่งทางเรือจากท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น

โครงการรถไฟจีน-สปป.ลาว จะเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นช่องทางที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ที่มีผู้บริโภคมากถึง 1,412 ล้านคน โดยมีความต้องการสินค้าด้านสุขภาพมากขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนราว 20% รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยว โดยระบบรางของจีนมีเส้นทางเครือข่ายไปยังภูมิภาคต่างๆ รวมระยะทาง 3.6 หมื่นกิโลเมตร

กงสุลใหญ่ฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการขนส่งระบบรางยังไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีที่ดี ทำให้มีการตัดถนนเพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาการขนส่งระบบรางให้ทันสมัยจึงมีการนำมาใช้งานกันมากขึ้น และในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การขนส่งระบบรางกลับไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะเป็นการขนส่งระบบปิดและไม่สร้างมลภาวะ

เส้นทางรถไฟจีน-สปป.ลาว จะช่วยให้การส่งออกสินค้าที่มีความอ่อนไหว ได้แก่ ผักและผลไม้ ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะมีการส่งสินค้าเกษตรกลับเข้ามาขายในประเทศไทยเช่นกัน

“ผู้ส่งออกก็ต้องพิจารณาความคุ้มค่าในการใช้เส้นทางรถไฟจีน-สปป.ลาวส่งออก ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหากไม่ได้ส่งออกไปยังจุดหมายปลายทางคุนหมิง” นายมงคล กล่าว

ด้านนายอู๋ เจี้ยนเลี่ย ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท Yunnan Intercontinental Multi-model Railway Logistics กล่าวว่า รถไฟเส้นทางนี้จะเปิดให้บริการในช่วงปลายปีนี้ หลังจากเริ่มทดลองใช้งานเมื่อวันที่ 27 ก.ย.64 และในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อเส้นทางมาถึงกรุงเทพฯ โดยคุนหมิงจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมเชื่อมต่อไปยังเอเชียใต้และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งช่วยให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้ประหยัดต้นทุนในการขนส่ง

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า การเปิดเส้นทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ด้านการค้าอย่างมาก ส่วนด้านการท่องเที่ยวนั้นยังพอมีเวลาในการจัดเตรียมความพร้อมรองรับ เนื่องจากทางการจีนยังไม่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการต้องพิจารณาว่าจะใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง โดยหลังจากโครงการนี้เปิดให้บริการแล้วจะเกิดผลกระทบต่อการขนส่งรูปแบบเดิมอย่างแน่นอน เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งเชื่อว่าภาคเอกชนจะมองเห็นช่องทางและปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ไม่ยาก

ส่วนสาเหตุที่การก่อสร้างโครงการในส่วนของประเทศไทยยังมีล่าช้านั้น เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องขั้นตอนตามกฎหมาย และเสถียรภาพทางการเมือง

นายสุระชัย วิชาชัย ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับปรุงโครงข่ายเส้นทางคมนาคมให้เชื่อมโยงกับโครงการดังกล่าวให้เพียงพอกับความต้องการ ได้แก่ การขยายสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 1 ให้สามารถรองรับปริมาณจราจรเพิ่มขึ้น แก้ปัญหาคอขวด เนื่องจากโครงการเดิมไม่ได้เตรียมการรองรับเรื่องนี้

หากพิจารณาจากภาพรวมแล้วเชื่อว่าจังหวัดหนองคายมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับโครงการนี้ ทั้งด้านการลงทุน และการท่องเที่ยว หากผู้ประกอบการมีความสนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์ต่างจังหวัดและทั่วโลกได้

นางมนนิภา โกวิทศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจในจังหวัดหนองคายฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ช่วยสร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมด้วยการยกระดับความรู้ของแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

นางวัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณการค้าผ่านแดนไป สปป.ลาว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่แล้วแม้เกิดวิกฤตโควิด-19 ดังนั้นเมื่อมีการเปิดบริการรถไฟจีน-สปป.ลาวจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้ามากขึ้น โดยตนเองอยากเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมากำกับดูแลเหมือนโครงการอีอีซี เพราะมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่าการค้าผ่านแดน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ด้วยการยกระดับความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดจากการขนส่งที่มากถึง 40%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,