เอกชนชี้แลนด์บริดจ์ไม่ตอบโจทย์สายเดินเรือ-การค้าระหว่างประเทศ หนุนพัฒนาท่าเรือเดิม

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ร่วมกับวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดกิจกรรม SPU Supply Chain Roundtable ครั้งที่ 176 โดยเป็นการเสวนาภายใต้หัวข้อ “เปิดประเด็นท้าทายอภิมหาโปรเจคใหญ่แห่งปี Land Bridge 1 ล้านล้าน ตอบโจทย์ใคร?

โดยวงเสวนาเห็นด้วยกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ให้สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนจริง แต่การลงทุนพัฒนาโครงสร้างด้านโลจิสติกส์ต้องพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณสินค้าถ่ายลำและผ่านแดนอย่างรอบคอบ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าเป้าหมายหลักของโครงการมากกว่า 80% ของปริมาณสินค้าคาดการณ์ทั้งหมด

นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ มองว่า การใช้งานแลนด์บริดจ์ของเรือขนาดใหญ่จะมีต้นทุนค่าใช้จ่าย เวลา และต้องใช้จำนวนเรือเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนขนส่งสินค้า โดยประเมินว่าการประหยัดเวลาเดินทางของเรือ 2-5 วัน ตามที่ปรึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้ประเมินไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยว่าสมมติฐานการปฏิบัติงานแบบไร้รอยต่อของโครงการแลนด์บริดจ์จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ เนื่องจากประเมินแล้วพบว่าปริมาณตู้ที่ขนส่งโดยเรือขนาดใหญ่จะก่อให้เกิดปัญหาการจัดการลานตู้ในท่าเรือทั้งสองฝั่ง ทำให้เรืออาจเทียบท่าใช้เวลาในการขนถ่ายประมาณ 7-10 วันในแต่ละฝั่ง สำหรับการยกตู้ทั้งหมดขึ้นฝั่งและยกตู้ลงเรือสำหรับขนส่งเที่ยวกลับ ซึ่งจะทำให้สายเรือต้องเพิ่มเรือในเส้นทางอีกอย่างน้อย 1.5 ลำขึ้นไป จากจำนวนเรือที่ใช้เดินเรือในเส้นทางเอเชีย-ยุโรปผ่านช่องแคบมะละกา และในด้านการจัดการโลจิสติกส์บนฝั่งยังต้องบริหารเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางบกสำหรับการเคลื่อนย้ายตู้จำนวนมากระหว่างท่าเรือทั้งสองฝั่งซึ่งต้องใช้รถหัวลากและรถไฟจำนวนมากในการเคลื่อนย้ายและจัดเรียงลำดับตู้ให้เหมาะสม

ขณะที่นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า ท่าเรือแลนด์บริดจ์เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการขนส่งสินค้า โดยผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า เน้นใช้บริการท่าเรือที่อยู่ใกล้กับสถานที่ตั้งของตนมากที่สุด เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือและโรงงาน และลดการปล่อยคาร์บอนจากการขนส่งทางบก เพื่อตอบสนองมาตรการทางการค้าและเป้าหมาย Net Zero Carbon อย่างยั่งยืน เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่อยู่ไกลจากพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ แต่อยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบังมากกว่า และหากปริมาณสินค้าในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้มีน้อยจะทำให้สายการเดินเรือเลือกใช้เรือขนาดเล็กและความถี่ต่ำ อาจมีผลให้ต้นทุนการขนส่งของสายเรือจากท่าเรือแลนด์บริดจ์สูงกว่าต้นทุนการขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังประเทศปลายทาง

ทั้งนี้ สรท.สนับสนุนการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ ท่าเรือสงขลา ท่าเรือระนอง เพื่อรองรับความต้องการส่งออกและนำเข้าของอุตสาหกรรมเดิมในพื้นที่ และอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พร้อมทั้งเสนอประเด็นเร่งด่วน ขอให้เร่งแก้ไขอุปสรรคต่อการถ่ายลำ โดยดำเนินโครงการ Transshipment Sandbox ณ ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อทดสอบความพร้อมและแนวปฏิบัติในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายลำในภูมิภาค

สนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือหลักของประเทศ อาทิ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสงขลา เนื่องจากประเทศไทยควรใช้ระบบการขนส่งทางรางในการขนส่งจากแต่ละภาคไปยังท่าเรือหลัก แทนการขนส่งสินค้าทางถนนซึ่งปล่อยปริมาณคาร์บอนสูงกว่า และมีปัญหาความแออัดในการจราจรทางถนน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , ,