นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ยังมองว่ามีโอกาสที่จะผ่านแบบ 50 ต่อ 50 และไม่มั่นใจว่าจะโหวตได้หรือไม่ เพราะอาจมีเกมการเมืองในสภาเกิดขึ้น โดยเฉพาะการอภิปรายถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและการเสนอญัตติให้ทบทวนมติเมื่อวันที่ 19 ก.ค. โดยอาจเกิดเหตุการณ์คล้ายกับเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่มีความวุ่นวายจนนำไปสู่การปิดประชุม
แม้ว่าพรรคเพื่อไทย จะมีเสียง สส.ที่สนับสนุนโหวตให้ครบทั้งหมด แต่ต้องจับตาเสียง สว.ว่าจะสนับสนุนหรือไม่ ซึ่งตนไม่มั่นใจว่าจะมีเสียง สว.สนับสนุนให้ได้เสียงถึงกึ่งหนึ่งหรือ 375 เสียงหรือไม่ เพราะมีเงื่อนไขหลายอย่างสำหรับพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะถ้ามีการเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน ก็จะมีประเด็นที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ นำมาโจมตี ที่จะต้องชี้แจงสังคม
นอกจากนี้ ในส่วนของพรรคร่วมจัดตั้งเดิม 8 พรรค พรรคเพื่อไทยอาจถือว่าเป็นแกนนำที่ไม่ได้นำจริงๆ เพราะสุดท้ายพรรคเพื่อไทยจะต้องยอมรับทุกเงื่อนไข และยอมรับทุกอย่างที่เป็นการต่อรอง และเรื่องของโควตารัฐมนตรี รวมทั้งเผชิญกับการเมืองที่มาจาก 250 สว. เพราะมี สว.ส่วนหนึ่งที่ตั้งประเด็นเรื่องจริยธรรมทางการเมืองของนายเศรษฐา อีกทั้งการเมืองจาก 8 พรรคร่วมเดิมโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ซึ่งวันนี้พรรคก้าวไกลชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล และอาจมีประเด็นที่เรื่องที่นายพิธาจะไม่ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเกมก้าวไกลที่จะกดดันเพื่อไทยให้ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขจากมติศาลรัฐธรรมนูญ และมติของสภาที่ห้ามโหวตซ้ำ ตนจึงยังไม่มั่นใจว่าการโหวตในวันที่ 22 ส.ค.จะมีนายกฯ ที่ชื่อนายเศรษฐา หรือไม่
อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะปิดโอกาสพรรคเพื่อไทย หลายคนอาจมองว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นการตัดโอกาสของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล แต่ตนมองว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นแรงกดดันต่อพรรคเพื่อไทยด้วย จะทำให้การโหวตนายกฯของพรรคเพื่อไทยสามารถโหวตแคนดิเดท 1 คนได้เพียงครั้งเดียว ดังนั้นเมื่อมีกระบวนการที่จะกดดันพรรคเพื่อไทย จะมีผลต่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
สำหรับแคนดิเดทนายกฯ ทั้ง 9 คน ขณะนี้ใช้งานได้เพียง 4 คน คือ นายเศรษฐา และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย และอีก 2 คน คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคพรรคภูมิใจไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นถ้านายเศรษฐาโหวตไม่ผ่าน โอกาสที่จะเป็น น.ส.แพทองธาร ในสถานการณ์แบบนี้ก็ยังไม่แน่นอน โอกาสที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะไหลไปสู่ขั้วอำนาจเดิมมีความเป็นไปได้สูง
นายยุทธพร กล่าวว่า การเดินหน้าของพรรคเพื่อไทยเป็นการตอบโจทย์ถูก แต่ตั้งโจทย์ผิด เพราะเพื่อไทยตอบโจทย์ถูกในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล หากพรรค 2 ลุงมาด้วยความจริงใจ ไม่ว่าลุงคนใดคนหนึ่ง หรือ 2 ลุง โอกาสที่เราจะได้เห็นเสียงจาก สว.มาสนับสนุนอย่างน้อย 100 เสียงมีความเป็นไปได้ จะทำให้เสียงมีถึง 314 เสียง เมื่อรวมพรรคเล็กจะได้ 315 และบวกกับ 100 เสียง สว.จะได้ 415 ซึ่งจะเกินว่า 375 เสียง
แต่โจทย์ที่ถูกต้องสำหรับเพื่อไทยคือการฟื้นคืนความเชื่อมั่นจากประชาชน ที่พรรคเพื่อไทยกำลังล้มละลายทางความเชื่อถือ ถ้ามองระยะยาวอยากให้พรรคเพื่อไทยทบทวนจุดยืน และโจทย์ทางการเมืองที่ถูกต้อง
ส่วนการเดินเกมบีบพรรคเพื่อไทยให้ไปถึงการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร นั้นก็มีความเป็นไปได้ เพราะวันนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ ขณะนี้ยังมีความไม่ลงตัว โอกาสที่จะเห็นความยืดเยื้อในการเลือกนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลมีความเป็นไปได้สูงมากๆ ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลต้องตอบโจทย์ใน 4 เรื่อง คือ เสียงของประชาชนที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง, การประกาศวางมือทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์, พรรคเพื่อไทยต้องเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และความคาดหวังของประชาชนกับภาพการเมืองที่จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งการไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้งทำให้ไม่เกิดความสมดุลทางการเมือง จึงส่งกระทบต่อการโหวตนายกฯและจัดตั้งรัฐบาล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 66)
Tags: ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ยุทธพร อิสรชัย, ศาลรัฐธรรมนูญ, เศรษฐา ทวีสิน