เวิลด์แบงก์จัดไทยอยู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน ร่วมกับมาเลย์-อินโดฯ

ธนาคารโลกจัดกลุ่มประเทศตามรายได้ประจำปีงบประมาณ 2567 (1 ก.ค. 2566 – 30 มิ.ย. 2567) โดยไทยยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle income) เช่นเดียวกับปีที่ผ่าน ๆ มา โดยนอกจากไทยแล้ว มาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นอีก 2 ประเทศในอาเซียนที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวด้วยในการจัดอันดับครั้งล่าสุด

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้จัดกลุ่มประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกออกเป็น 4 กลุ่มรายได้ได้แก่ ประเทศรายได้ต่ำ (low), ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง (lower-middle), ประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (upper-middle) และประเทศรายได้สูง (high) จากการประเมินรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita) โดยใช้วิธี Atlas method

ธนาคารโลกระบุว่า การจำแนกประเทศตามรายได้นั้นได้พัฒนาขึ้นอย่างชัดเจนแบบต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 โดยในปี 2530 ประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำอยู่ที่ระดับ 30% ขณะที่ในปี 2565 ลดลงเหลือเพียง 12%

เมื่อพิจารณาเป็นภูมิภาคแล้วพบว่า สัดส่วนของประเทศรายได้ต่ำในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาร่า ลดลงจาก 74% สู่ 46% ในปี 2565, ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกลดลงจาก 26% เหลือเพียง 3% และในภูมิภาคเอเชียใต้ลดลงจาก 100% เหลือเพียง 13%

ในปีงบประมาณ 2567 ประเทศรายได้ต่ำคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1,135 ดอลลาร์สหรัฐ, ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยระหว่าง 1,136–4,465 ดอลลาร์สหรัฐ, ประเทศรายได้ปานกลางระดับบนคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 4,466–13,845 ดอลลาร์สหรัฐ และประเทศรายได้สูงคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 13,845 ดอลลาร์สหรัฐ

เทียบกับปีงบประมาณ 2566 นั้น ประเทศรายได้ต่ำคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1,085 ดอลลาร์สหรัฐ, ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยระหว่าง 1,086–4,255 ดอลลาร์สหรัฐ, ประเทศรายได้ปานกลางระดับบนคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 4,256– 13,205 ดอลลาร์สหรัฐ และประเทศรายได้สูงคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 13,205 ดอลลาร์สหรัฐ

รายงานระบุว่า สถานการณ์รายได้ของแต่ละประเทศดีขึ้นในปี 2565 เนื่องจากการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยในแง่ของรายได้ประชาชาติต่อหัว ประมาณ 80% ของประเทศทั่วโลกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในปี 2565 เทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2562

ทั้งนี้ รายได้ประชาชาติต่อหัวของเอลซัลวาดอร์ อินโดนีเซีย รวมถึงเวสต์แบงก์และกาซ่าเฉียดใกล้กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบนอย่างมากในปี 2564 ดังนั้นการที่ GDP ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2565 จึงเพียงพอที่จะทำให้ประเทศเหล่านี้ย้ายเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน โดย GDP ที่แท้จริงของเอลซัลวาดอร์ขยายตัว 2.6% ในปี 2565 ส่วนอินโดนีเซียฟื้นตัวแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องหลังสิ้นสุดโรคระบาด และ GDP ที่แท้จริงขยายตัว 5.3%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 66)

Tags: , , , ,