เลือกตั้ง’66: 9 พรรคดีเบตโชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนภาคอุตฯ เร่งแก้คอร์รัปชั่น

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง “วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย” จากตัวแทน 9 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และ พรรครวมไทยสร้างชาติ

ก้าวไกลชูนโยบายอุตสาหกรรมก้าวหน้า

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลพรรค กล่าวว่า พรรคมีนโยบายอุตสาหกรรมก้าวหน้า 3 ประการ คือ 1.การเปลี่ยนอุตสาหกรรมโลว์เทคให้เป็นอุตสาหกรรมไฮเทคไฮทัช โดยใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ 2.แนวคิด Made with Thailand จากเดิมที่เป็น Made in Thailand ซึ่งสร้างสำเร็จให้กับไต้หวันในการมีส่วนร่วม และ 3.ปัจจัยการผลิตที่ถูกลงแต่สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ต้องดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบภาครัฐเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน, ส่งเสริมการเรียนในระดับอาชีวะศึกษา และ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าเสรี

ปัญหาการแข่งขันการลงทุนกับประเทศเวียดนาม และปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยนั้นมีความเกี่ยวพันกัน ขณะที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศของไทยมีน้อยกว่าเวียดนาม แต่ระดับการทุจริตของไทยสูงกว่าเวียดนาม แนวทางส่งเสริมการลงทุนไม่ใช่เรื่องการลดภาษีเหมือนในอดีต แต่ควรมีมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมาตรการสร้างแรงจูงใจ

ส่วนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นนั้น จะต้องลดเรื่องการใช้ดุลพินิจ ลดการผูกขาด และเพิ่มความริบผิดรับชอบของหน่วยงานรัฐ

พท.หนุนรัฐ-เอกชนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรคมีหลักคิดว่ารัฐเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ประกอบการทุกราย เพราะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี และกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากภาคเอกชน

ดังนั้นจะพลิกบทบาทจากรัฐอุปสรรคมาเป็นรัฐสนับสนุน เช่น ปรับปรุง กรอ.ให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า โดยกำหนด KPI ของผู้ว่าฯ ที่จะมาเป็นประธาน กรอ.จังหวัด, การเจรจากับต่างประเทศเพื่อเปิดตลาดใหม่และดึงดูดการลงทุน เช่น กรณีที่มีปัญหาการขนส่งสินค้าในยุโรป, การปรับโครงสร้างพลังงานและนำโครงสร้างภาษีมาช่วยส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงผลิตภาพ, การแก้ไขอุปสรรคในเชิงกฎหมาย, การเปิดศูนย์บริการเรื่องการขออนุญาตแบบ One Stop Service, การนำเทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอี

การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบันมีความจำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยรัฐบาลต้องดูแลและส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งพรรคมีแผนนำร่องในสถาบันการศึกษาในหัวเมืองหลัก คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพฯ ซึ่งพร้อมที่จะกระจายออกไปจังหวัดอื่นๆ

ส่วนการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นนั้น หากหัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก ดังนั้นการยกระดับเป็นรัฐบาลดิจิทัลสามารถแก้ไขได้ เช่น การขออนุญาตจะมีกรอบเวลาและเหตุผลชัดเจน

พปชร.ขับเคลื่อน 3 เร่งด่วน 8 เร่งรัด

นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีความเปราะบาง เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะต้องพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุดในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และทางเลือกในการขยายตัวเศรษฐกิจทันทีและต่อเนื่อง กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงต้องดำเนินการคู่ขนานกันไปทั้งสองมิติ ทั้งมิติการสร้างเศรษฐกิจใหม่ และมิติการวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามหลัก 3 เร่งด่วน 8 เร่งรัด คือการแก้ไขปัญหาครบทุกมิติ ประกอบด้วย 1. แก้หนี้ประชาชนและผู้ประกอบการให้เบ็ดเสร็จ เติมทุนให้จริงจังด้วยวิธีใหม่ และสร้างโอกาสใหม่ โดยทำทันที 2. ดูแลสวัสดิการคนไทย เสริมทักษะ และพัฒนาคนไทย โดยมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งเป็นบัตรเพื่อการพัฒนา และดูแลสวัสดิการ 3. การยกระดับคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย และการลงทุนปฐมวัย ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

ขณะที่ 8 นโยบายเร่งรัด ประกอบด้วย 1. ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมภาคเกษตร และวิสาหกิจชุมชน พร้อมเชื่อมโยงเข้ากับภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว 2. ยกเครื่องภาคอุตสาหกรรมเดิม สร้างเศรษฐกิจใหม่สู่อุตสาหกรรม S-curve เพื่อให้อุตสาหกรรมประเทศขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจฐาน BCG 3. เร่งพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอีอีซี รวมถึงขยายพื้นที่ยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ให้ทั่วทุกภาค 4. ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน ราง ทางน้ำ และอากาศ รวมไปถึงยกระดับโครงสร้างดิจิทัล พัฒนาเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั้งประเทศโดยเร็วที่สุดต้นทุนงถูก เพื่อต่อยอดพร้อมเพย์ และเป๋าตังค์ ให้คนไทยเข้าสู่ Digital Economy อย่างแท้จริง

5. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยให้นักเรียนนักศักษาระดับอาชีวะ ปวส. เรียนฟรีมีงานทำ ด้วยการทำแพลทฟอร์มเชื่อมแหล่งงานกับสถานศึกษ นักศึกษาสามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้ ขณะที่แรงงานเดิมจะส่งเสริมให้เข้าสู่โปรแกรมยกระดับทักษะให้ตรงกับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ไปพร้อมกัน 6. ปฎิรูประบบราชการ และแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพื่อส่งเสริมให้เกิดเอสเอ็มอีที่มีความเข้มแข็ง 7. ปฏิรูประบบงบประมาณ และกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการผลักดันงบประมาณในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อเข้าสู่งบประมาณสมดุลในระยะยาว ขณะที่การกระจายอำนาจท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมงบประมาณไปขับเคลื่อนให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการเพื่อตอบสนองความต้องการของพื้นที่ได้อย่างตรงจุด และ 8. ต่อต้านคอร์รัปชันเต็มรูปแบบ สร้างระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ มีการเพิ่มโทษนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันเป็นสองเท่า รวมถึงมีเทคโนโลยีบล็อคเชนที่จะนำมาใช้ในโครงการประมูลภาครัฐขนาดใหญ่

ส่วนการปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่บั่นทอนการพัฒนาประเทศมาตลอด ที่ผ่านมาเคยมีผลศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สร้างความเสียหายถึงปีละ 2 แสนล้านบาท โดยต้องนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตาม

ทสท.หนุนใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG สร้างรายได้ลดรายจ่าย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลยังตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนยังไม่เพียงพอ ซึ่งมี 4 เรื่องคือ 1.กิโยตินกฎหมายที่เป็นอุปสรรค 1,400 ฉบับ 2.การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น ให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายเพดานค้ำประกันเงินกู้ถึง 60% 3.การเพิ่มแต้มต่อให้กับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ และ 4.ใช้นโยบาย BCG เพื่อสร้างรายได้ลดรายจ่าย เช่น ลดค่าไฟฟ้า

การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG มีการพูดกันมานานแล้วแต่ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องบูรณาการทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบชัดเจน ต่างคนต่างทำไม่มีทางเป็นไปได้

ส่วนการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นอยู่ที่ผู้นำต้องเอาจริงเหมือนในต่างประเทศ ไม่ใช่แค่พูดว่าตัวเองไม่คอรัปชั่น อย่าหลับตาข้างเดียว ต้องมีแพลตฟอร์มในการปราบโกง ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

ภท.ชูแก้ราคาพลังงาน ลดต้นทุน

น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ว่าที่ผู้สมัครเขตดินแดง-พญาไท พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า พรรคจะต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ให้มีความเข้มแข็ง และมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น การยกระดับยาสมุนไพร ซึ่งสามารถที่จะผลักดันให้เป็นผู้นำในภูมิภาคได้, อุตสาหกรรมอาหารที่สร้างชื่อไปทั่วโลก

การแก้ไขปัญหาเรื่องราคาพลังงานนั้น เนื่องจากมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาแพงและสร้างมลภาวะ รัฐบาลไม่ได้ดูแลเรื่องปริมาณไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสมทำให้ค่าไฟฟ้าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เป็นที่น่าสังเกตุว่ารัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องราคาพลังงานได้เลยเนื่องจากมีกลุ่มทุนด้านพลังงานให้การสนับสนุนอยู่ ทำให้พรรคการเมืองเกิดความเกรงใจ ขณะที่พรรคจะสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานชีวภาพมากขึ้น เช่น รถเมล์ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์

ส่วนการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นจะต้องมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และการบังคับใช้อย่างจริงจัง ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องมีความเข้มแข็ง และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบตรวจสอบได้ง่าย

รมสช.ชูดูแล SMEs

นายสุชาติ ชมกลิ่น กรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคการเมือง พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาด รัฐบาลได้ช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมทุกมิติในการเยียวยา SMEs รายละ 3 พันบาท/คน เพื่อรักษาการจ้างงานรองรับการเปิดประเทศ

ขณะเดียวกันในช่วงโควิดมีการปิดโรงงานหมด จึงเกิดโครงการ factory sandbox ไม่ปิดโรงงานแต่ดำเนินการควบคู่กับสาธารณสุข เพื่อขับเคลื่อนภาคการส่งออกที่ขณะนั้นเป็นส่วนเดียวที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ โดยยอดการส่งออกปี 65 โตสูงสุด 17% เกิดจากนโยบายรัฐที่รับฟังประชาชนทุกคน ดังนั้น รัฐบาลหน้าต้องใส่ใจ ใกล้ชิด รับฟังผู้ประกอบการ เปรียบตัวเองเป็น SMEs ว่าต้องการอะไร

อย่างไรก็ดี ไทยยังคงขาดแคลนแรงงานที่ไม่มีทักษะ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อให้นายจ้างปรับค่าแรงขึ้น หนีกับดักค่าแรงขั้นต่ำ

ชพก.เสนอเพิ่มรายได้ท่องเที่ยวดัน GDP โต 4-5%

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) กล่าวว่า โควิด-19 สงครามการค้า สงครามจริง เศรษฐกิจถดถอย ดอกเบี้ยขาขึ้น น้ำมันแพง โลกร้อน เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยมีปัญหา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาภาพรวม GDP ไทยขาดทุน ในส่วนของปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3% แต่ไทยจำเป็นต้องฟื้นเศรษฐกิจให้ได้อย่างน้อย 4-5% โดยใช้จุดแข็งที่มี คือ การท่องเที่ยว ซึ่งไม่ต้องอาศัยความเชื่อมั่น และไม่เกี่ยวกับปัจจัยทั่วโลก

วันนี้นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา 25 ล้านคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจเริ่มรีบาวด์ รายได้จากการท่องเที่ยวแก้ปัญหาทุกอย่าง และมีการกระจายรายได้ในทุกพื้นที่ พรรคฯ จึงมองว่า การท่องเที่ยวจะเป็นตัวฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด โดยควรเพิ่มนักท่องเที่ยวเป็นสองเท่า ในอีก 4 ปีข้างหน้าแตะ 70-80 ล้านคน ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวพำนักนานขึ้นจาก 10 วัน เป็น 12 วัน รายจ่ายต่อหัว 6 พันบาท/คน ดังนั้น ไทยจะสามารถสร้างรายได้ถึง 5 ล้านล้านบาท จากเดิม 2 ล้านล้านบาท

สำหรับประเด็นเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบ ต้องมีเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่น โดยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 รัฐต้องมีกฎหมายน้อย ทันสมัย ยืดหยุ่น และเข้าถึงมากที่สุด อาทิ แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ต้องมีการแก้ไขเพื่อให้ทันต่อความผันผวนของโลกในปัจจุบัน หรือประเด็นเรื่องการห้ามขายสุรา ช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ควรมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันต่อบริบทของประเทศที่เปลี่ยนไปเน้นการท่องเที่ยว รองรับต่างชาติ เป็นต้น

ดังนั้น ต้องมีการแก้กฎหมาย และรัฐธรรมนูญ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุนของประเทศ นอกจากนี้ ต้องมี One Stop Service หรือรัฐบาล 1 คำขอ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการดำเนินการ ไม่เกิดการทุจริต ขณะเดียวกัน ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการประมูลงาน การจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

ปชป.เร่งแก้ต้นทุนพลังงาน

นายเกียรติ สิทธีอมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า นโยบายหลักของพรรค คือ สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ โดยต้องแก้ปัญหาในส่วนของภาคธุรกิจ อาทิ แก้ปัญหาหลักต้นทุนพลังงาน น้ำมัน ค่าไฟ ขนส่ง ซึ่งถ้าพรรคฯ ได้เป็นรัฐบาลยืนยัน 1 เดือนเห็นผล ว่า กำไรโรงกลั่นจะไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร ค่าการตลาดต้องไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร และก๊าซต้องเกลี่ยต้นทุนที่ถูก, ภายใน 3 เดือนพรรคฯ ยืนยันว่า ระบบโลจิสติกส์และรางต้องไม่เกิน 7% ของ GDP, ขับเคลื่อน AI และ Big Data, ส่งเสริม Made in Thailand, ส่งเสริมรถไฟฟ้า (EV) และตั้งเป้า 3% ของ GDP ใน 4 ปี รัฐลงทุน 70% ให้ประเทศไทยเป็นฮับ R&D ของเอเชีย

สำหรับแนวทางการรับมือกับปัญหาโลกร้อน (Climate change) และมาตรการกีดกันทางการค้า มองว่า ต้องเปลี่ยนแนวคิดและทัศนคติกับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม ปรับ Business Model เป็น Bankable Business ใช้เงินน้อยได้ผล 100 เท่า ส่วนประเด็นเรื่องกีดกันทางการค้า ต้องเลือกพรรคที่มีการเจรจาเชิงรุก และรู้ทันประเทศอื่น

ส่วนแนวทางในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ไทยตกอันดับจากสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ที่อันดับ 80 แต่ตอนนี้อยู่ที่ 101 ทั้งนี้ ต้องแก้ที่ต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ทั้งอัยการ ศาล ตำรวจ แก้กฎหมายหลายฉบับ เปิดช่องทางให้มีการตรวจสอบได้ ลดการใช้ดุลยพินิจของข้าราชการ ซึ่งมีงานวิจัยว่า ถ้าไทยไม่มีคอร์รัปชัน GDP จะโตขึ้นทันที 1.5%

ชทพ.ชูยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร-เพิ่มเข้าถึงแหล่งทุน

นายสันติ กีระนันทน์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ จึงต้องมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งภาคอุตสาหกรรมทุกขนาด และยกระดับอุตสาหกรรมภาคเกษตรไปพร้อมกัน

ดังนั้น พรรคเสนอนโยบาย อาทิ 1.ต้นทุนพลังงานเป็นปัญหาหลัก ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง 2.เทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม รัฐต้องนำผลงานวิชาการ ผลวิจัย เปิดเป็นสาธารณะ เพื่อให้ MSME นำไปใช้ 3.ร่วมมือ Up skill และ Re skill และจ่ายค่าแรงตามค่าแรงเป้าหมาย 4.ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยพรรคฯ เสนอนโยบายตั้งคาร์บอนเครดิตเซนเตอร์ เป็นศูนย์กลางของเอเชียเปซิฟิก และ 5.ภาครัฐต้องทำงานให้สอดประสานกันมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การสนับสนุนทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME มีปัญหามาตลอด ซึ่งต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ และให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) ทั้ง 6 แห่ง เป็น Development bank จัดการแนวคิดทุจริตคอร์รัปชัน

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การคอร์รัปชันของไทยในปีนี้ดูดีขึ้น แต่คะแนนยังอยู่ที่ 36 คะแนนเหมือนเดิม ปัญหาหลัก คือ ภาครัฐเป็นอุปสรรค จึงต้องลดกฏระเบียบ เพื่อลดโอกาสของการทุจริต แยกกฎหมายทั้งหมดทำเป็น Commercial Law และนักการเมืองต้องปฏิบัติเป็นตัวอย่าง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 66)

Tags: , , , ,