นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้ายื่นเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อ บมจ.ไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้นำไปประกอบการพิจารณาคำร้องที่เคยยื่นไว้
ประกอบด้วย ตารางชื่อของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ และนายพิธา ถือหุ้นไอทีวีในช่วงปี 49-66 รวมทั้งสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้นปี 49-66 (บางส่วน) สำเนาวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท ตารางรายได้รวม และสำเนารายได้รวมของปี 64-65 และสำเนาพ.ร.บ.บริษัทจำกัดมหาชน(บางส่วน)
นายเรืองไกร เชื่อว่า เรื่องนี้จะต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน ดังนั้นเมื่อเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะขอให้ศาลใช้ระบบไต่สวนเพื่อเรียกพยานหลักฐานเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยด้วย
อย่างไรก็ตาม หาก กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ยังตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธาไม่แล้วเสร็จ อยากขอให้นักการเมืองที่มีสถานภาพเป็น ส.ส.ร่วมกันเข้าชื่อตามกฎหมายเสนอเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรยื่นร้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกับกรณีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบกรณีถือหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ช่วงก่อนยุบสภา ส่งผลให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะตรวจสอบคู่ขนานกับทาง กกต.ได้
และหากนายพิธาได้เป็นนายกฯแล้ว ก็จะขอให้ ส.ว.250 เสียงใช้สิทธิยื่นร้องสอบคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญได้เช่นเดียวกัน ยืนยันว่าข้อเสนอเป็นไปตามหลักข้อเท็จจริง ไม่มีอภินิหาร หรือ นิติสงครามทั้งสิ้น
นายเรืองไกร ยังได้ยื่นคำร้องต่อกกต. ขอให้พิจารณาและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลและอีก 7 พรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าการร่วมกันทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ของทั้ง 8 พรรคการเมือง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.66 เข้าข่ายยินยอมให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองชี้นำ ครอบงำ ควบคุมการดำเนินกิจกรรมของพรรค ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 28 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2560 ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรค
“เรื่องนี้มีพฤติกรรมตั้งแต่ก่อนเซ็นเอ็มโอยูแล้ว มีการต่อรองกันไปมาเรื่องเนื้อหาที่จะเขียนลงไว้ในเอ็มโอยู นั่นคือเหตุผลข้อเท็จจริงก่อนเซ็น มันประกอบด้วยเรื่องนี้ เนื้อหาแบบนี้ ซึ่งผมตามมาตลอดจึงรู้ว่าต้องนำกฎหมายใดมาใช้ มีนักการเมืองหลายคนที่อยู่ในพรรคร่วม ที่เซ็นเอ็มโอยู แต่ถ้าจะให้ร้องเรียนเฉพาะพรรคก้าวไกล โดยไม่ต้องร้องเรียนอีก 7 พรรคการเมืองทำไม่ได้ เพราะถือเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเหมือนกัน ข้อเท็จจริงมีนิดเดียวอยู่ตรงนี้คือ การทำเอ็มโอยูและการเจรจาต่อรองกันมาก่อนหน้านี้ และผมขีดเส้นใต้ให้ กกต.ทราบชัดเจน” นายเรืองไกร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 66)
Tags: กกต., พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ศาลรัฐธรรมนูญ, เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ, เลือกตั้ง, ไอทีวี