เลือกตั้ง’66: ศรีสุวรรณ จี้ กกต.สอบนโยบายแจกเงินดิจิทัลครบเงื่อนไข-ทำได้จริงหรือไม่

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการชี้แจงในรายละเอียดนโยบายหาเสียงที่ใช้จ่ายเงินของพรรคเพื่อไทย ว่าครบถ้วนตามเงื่อนไข มาตรา 57พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบว่าสามารถดำเนินการให้เป็นจริงได้หรือไม่ด้วย

นายศรีสุวรรณ ระบุว่า ใน 70 พรรคการเมืองที่ยื่นชี้แจงนโยบายหาเสียงต่อ กกต. มีประเด็นที่น่าสงสัย คือ กรณีนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย ซึ่งสมาคมฯ เห็นว่าคำชี้แจงยังมีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน และความเป็นไปได้ของโครงการมีโอกาสน้อยมาก ที่ระบุว่าจะใช้เงินถึง 5.6 แสนล้านบาท โดยอธิบายว่ามาจากประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 67 จำนวน 2.6 แสนล้านบาท

“เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีงบประมาณเหลืออยู่เพียง 2 แสนล้านบาทเท่านั้น จึงเกินกว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนที่ระบุว่า จะนำเอาเงินภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว 1 แสนล้านนั้น จริงๆ เมื่อเข้าไปดำเนินการต้องนำเงิน 5.6 แสนล้านบาท มาดำเนินการทันที เงินภาษีที่จะได้ จะเกิดขึ้นทีหลัง คำถามคือแล้วจะเอาเงิน 5.6 แสนล้านบาทมาจากไหนก่อน”

นายศรีสุวรรณ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมองว่า ที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าจะมีการตัดงบสวัสดิการซ้ำซ้อนจำนวน 9 หมื่นล้านบาทนั้น ปัจจุบันก็จะมีโครงการเบี้ยผู้สูงอายุ บัตรคนจน ซึ่งไม่ได้มีอธิบายว่าจะตัดจากงบส่วนไหน และยังระบุว่าจะมีการตัดงบกระทรวงต่างๆ อีก 1.1 แสนล้านบาท แต่ก็ไม่มีการระบุว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งที่ 70 นโยบาย 15 ด้าน จะต้องใช้เงินถึง 3 ล้านล้านบาท ดังนั้น จึงขอให้ กกต.ตรวจสอบว่าคำชี้แจงดังกล่าวของพรรคเพื่อไทยว่าเป็นไปโดยชอบตามมาตรา 57 หรือไม่ และถ้าไม่ชอบจะถือว่าเข้าข่ายหลอกลวง ตามมาตรา73 (5) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่

“เห็นว่านโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทย ที่จะใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท ไม่มีทางทำได้ ถ้าไม่ใช้วิธีการกู้เงิน ซึ่งพรรคก็ไม่ได้ชี้แจงไว้”

นายศรีสุวรรณ กล่าว

พร้อมระบุว่า เรื่องนี้ กกต.ควรเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง หากเห็นว่าพรรคเพื่อไทยชี้แจงมาถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์กับพรรคที่จะสามารถใช้นโยบายดังกล่าวหาเสียงต่อไปได้ แต่หากมีปัญหา ก็ต้องสั่งให้ยุติการนำนโยบายนี้ไปหาเสียง แล้วดำเนินการเอาผิดตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตนจะไปยื่นร้องในช่องทางอื่นต่อไป เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลปกครอง

“กกต. จะต้องตรวจสอบรายละเอียดนโยบายของพรรคอื่นๆ ด้วย เพราะ กกต.มีหน้าที่ ถ้านิ่งเฉย อย่าลืมว่า กกต.หลายคนในอดีตก็ถูกลงโทษมาแล้ว” นายศรีสุวรรณ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 66)

Tags: , , , , ,