เลือกตั้ง’66: ลุงป้อม นำดรีมทีมพปชร.เสนอนโยบายโค้งสุดท้าย ก้าวข้ามความยากจน พลิกโฉมศก.ไทย

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร่วมแถลง “สรุปนโยบาย โค้งสุดท้าย สู่การเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลประชารัฐ” นำโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค, นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบายพรรค, นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมืองพรรค, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายพรรค, นายวราเทพ รัตนากร กรรมการฝ่ายนโยบายพรรค, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค, ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการจัดทำนโยบายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายคณิศ แสงสุพรรณ ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรค พปชร.

โดยได้ชูนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเศษฐกิจตลอด 45 วันของการหาเสียงที่ผ่านมา และวันนี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายที่พรรคจะใช้ในการนำเสนอ ลงพื้นที่หาเสียงที่จะเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกช่วงวัยให้ได้รับโอกาสที่ดี มีชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพที่มั่นคง และพรรคพร้อมนำนโยบายที่มีอยู่ทั้งหมด สูการลงมือทำทันที เมื่อได้แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ซึ่งจะผ่านนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นการพลิกโฉมการบริหารภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

เป้าหมายของการก้าวข้ามความขัดแย้ง เป็นเป้าหมายแรก ที่ต้องการให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีความรักใคร่ สามัคคี เป็นหนึ่งเดียว ไม่มีความขัดแย้ง เพื่อให้ประเทศเกิดความสงบสุข เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น ซี่งประชาชนทราบดีว่า การที่ประเทศมีความสามัคคี จะเกิดผลดีต่อเศรษกิจ การค้า การลงทุน ไม่หยุดชะงัก การค้าขายราบรื่น หากประชาชนไม่มีการเดินลงบนถนนเพื่อเรียกร้อง ก็จะนำไปสู่การบริหารประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง

พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า ทีมเศรษฐกิจของ พปชร. จะทำนโยบายที่ประกาศแล้วทันทีทุกนโยบายที่สามารถทำได้ ถ้าได้เป็นรัฐบาล และอีกนโยบายที่ตนถือว่ามีความสำคัญ คือ นโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ต้องมีการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดฟื้นฟู จะหางบประมาณก้อนหนึ่งเพื่อดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ส่วนของก้าวข้ามความยากจน จะเน้นในเรื่องที่ทำกิน และแหล่งน้ำ ซึ่งตนได้ทำเรื่องน้ำมาตลอด 4 ปีที่เป็นรัฐบาล จนไม่มีพื้นที่ภัยแล้ง ถือเป็นหนี่งในผลงานความสำเร็จของการร่วมรัฐบาลที่สามารถให้ประชาชนอยู่ดีกินดีเพิ่มมากขึ้น

ด้านนายอุตตม กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำทันทีเมื่อได้เป็นรัฐบาล ประกอบด้วย 1. กระตุ้นเศรษฐกิจให้พลิกฟื้นจริงทันที 2. เร่งการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีพลัง เต็มศักยภาพ 3. เร่งรัดสร้างฐานรากการพัฒนาพลิกโฉมประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั่วถึง ให้มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง โดย “เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เพื่ออนาคตที่ดีของคนไทย”

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เรื่องการสร้างความเข้มแข็งนั้น สิ่งแรกที่เราจะทำ คือ ใช้โครงสร้างกองทุนหมู่บ้าน จะดำเนินโครงการที่ พปชร.เคยทำมาแล้วในอดีต จะผลักดันกองทุนละ 2 แสนบาท ภายใต้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ส่วนภาคเกษตร เราจะลดค่าใช้จ่าย คือ แก้ปัญหาปุ๋ยแพงทันที โดยโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง จัดตั้งกองทุนปุ๋ยประชารัฐ นอกจากนี้ จะให้ทุนการเพาะปลูก 30,000 บาท ครอบคลุม 8 ล้านครัวเรือน รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการเกษตร คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษปาล์มน้ำมัน ส่วนนโยบายด้านสาธารณสุข จะเน้นสาธารณสุขเชิงป้องกันมากกว่าการรักษา โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามา มี รพ.สต.เป็นฐานหลัก

นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า จากปัญหาค่าครองชีพที่สร้างความเดือดร้อนให้กับทุกคนนั้น เริ่มจากน้ำมัน พปชร. จะลดราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 18 บาท ดีเซลลดลิตรละ 6.30 บาท ไม่ว่าน้ำมันโลกจะขึ้นหรือลง เมื่อ พปชร.ได้ขึ้นเป็นรัฐบาลจะทำทันที ราคาค่าไฟฟ้าครัวเรือนจะอยู่ที่ 2.50 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 2.70 บาทต่อหน่วย พปชร.จะทำให้ค่าครองชีพลดลง นอกจากนี้ จะผลักดันนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ โดยอายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท อายุ 70 ปี ขึ้นไปได้ 4,000 บาท อายุ 80 ปีขึ้นไป ได้ 5,000 บาท

นายสันติ กล่าวว่า สำหรับนโยบาย “อีสานประชารัฐ” ภาคอีสานเป็นภาคที่มีความสำคัญ มีประชากรมากที่สุด มีพื้นที่ทำเกษตรกรรมจำนวนมาก และมีแรงงานมากที่สุด ถ้าพัฒนาอีสานได้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ตลาดโลก เป็นความคิดที่จะดูแลภาคอีสาน เป็นความตั้งใจที่ชาญฉลาดในการพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวอีสาน อีสานประชารัฐคือ การพัฒนาอีสาน เริ่มต้นจากการที่จะมีโครงการรถไฟความเร็วปานกลางวิ่งตั้งแต่ จ.บึงกาฬ มาถึงภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่อีอีซี

นายคณิศ กล่าวว่า นโยบายของ พปชร.คือ ไม่แจกเงินคนรวย เพื่อให้ทุกคนกลับฟื้นคืนมา ก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน ทั้งนี้ สำหรับนโยบายระยะยาวนั้น เราจะทำเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ ใน 5 จังหวัด ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการตอบรับดี ไม่ได้ทำร้ายใคร แต่ทำให้ทุกคนดีขึ้น ตอนนี้เราทำวางแผนกันไว้แล้ว

นายธีระชัย กล่าวว่า นโยบายเหล่านี้ต้องมีการใช้เงิน หลายคนถามว่าเราจะหาแหล่งเงินมาใช้อย่างไร เรามีนโยบายที่สร้างรายได้ให้กับประเทศและประชาชนนอกจากกลไกการลงทุน คือ วิธีไฟแนนซ์นโยบาย ได้แก่ 1.โยกมาจากงบประมาณประเภทอื่น 2.ปฏิรูปภาษี 3.มาจากการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และ 4.ถ้างบประมาณไม่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องเพิ่มหนี้สาธารณะ โดยจะต้องได้คะแนนเสียงพอเพื่อจับมือกันแก้กฎหมาย หรือยกระดับในเรื่องการบริหารหนี้สาธารณะชั่วคราว

สำหรับไฟแนนซ์จากการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ มีการคำนวณว่า

– นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน เกิดการหมุนเวียน 735,336 ล้านบาท เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 0.6%

– นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เกิดเงินหมุนเวียน 3 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 2.5%

– นโยบาย 8 ล้านครอบครัว เกิดเงินหมุนเวียน 1.4 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 1.2%

– นโยบายโซลาร์รูฟทอป เกิดเงินหมุนเวียน 7.2 แสนล้านบาท เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 0.6%

– นโยบาย 1 อบต. 1 โซลาร์ฟาร์ม เกิดเงินหมุนเวียน 7.2 แสนล้านบาท เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 0.6%

– นโยบายเปลี่ยนรถน้ำมันเป็นรถไฟฟ้า เกิดเงินหมุนเวียน 1.2 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 1%

– จัดตั้งองค์กรทรัพยากรพลังงานแห่งชาติ ให้เป็นผู้รับประโยชน์จากสัมปทานแหล่งก๊าซและน้ำมันที่จะทยอยหมดอายุลง โดยภายใน 4 ปี รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปี 1 แสนล้านบาท เสริมเข้ามาเป็นงบประมาณแผ่นดิน

นางนฤมล กล่าวว่า สำหรับนโยบายเศรษฐกิจใน กทม. จากการลงพื้นที่ กทม. สิ่งที่พี่น้องกทม.ต้องการคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องไม่ใช่นโยบายหรือแผนนโยบายที่ทำระยะสั้น นโยบายกทม.จะต่อยอดสิ่งที่ พล.อ.ประวิตรทำไว้ คือ ที่อยู่อาศัย จะทำบ้านประชารัฐต่อไป โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาล แต่ใช้การร่วมทุนกับเอกชน ส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ส่วนเรื่องการพัฒนาการยั่งยืนนั้น จะใช้กลไกกองทุนธุรกิจเพื่อสังคม สามารถทำได้ทันที โดยใช้เม็ดเงินที่ระดมทุนจากตลาดทุน ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเพื่อสังคม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ค. 66)

Tags: , , ,