เลือกตั้ง’66: “ลุงป้อม” ชี้เงื่อนไขตั้งรัฐบาลพปชร.ต้องเป็นมติพรรค-ย้ำก้าวข้ามขัดแย้ง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดทนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กจดหมายฉบับที่ 9 เรื่อง “การจัดตั้งรัฐบาล” ควรจะทำอย่างไร เพื่อตอบคำถามว่า พรรคพลังประชารัฐจะจัดตั้งรัฐบาลแบบไหน อย่างไร จะร่วมกับใคร พรรคไหนว่า เป็นเรื่องที่ต้องรอให้ตามขั้นตอนที่เหมาะสม ด้วยเงื่อนไขเฉพาะหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจาอย่างรอบคอบ และต้องเป็นไปในนาม “มติพรรค” ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมาประกาศตัดสิน จะไม่เป็นเช่นนั้น

หากจะมีความเด็ดขาดแน่นอนก็คือ “พลังประชารัฐ”จะตัดสินใจทุกเรื่อง ทุกอย่างด้วยเหตุผลต้องร่วมกัน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ด้วยความเชื่อว่าเป็นหนทางเดียวที่จะพาประเทศสู่การพัฒนาที่สร้างโอกาสแห่งความสุขให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมได้

โดยขอให้เชื่อมั่นว่า “เราจะตั้งรัฐบาลที่เป็นความหวังของประเทศอย่างดีที่สุดได้”

แม้ว่าโดยขั้นตอนอย่างเป็นทางการจะต้องเริ่มต้น จาก “ผลการเลือกตั้ง” ว่าประชาชนเลือกพรรคไหนมาเท่าไร แต่ละพรรคมีส.ส.ได้รับเลือกเข้ามากี่คน เห็นตัวเลขแต่ละพรรคแล้ววางไว้ก่อน

มาสู่ขั้นตอน เปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองที่มีส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน และได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา อันหมายถึง ส.ส.และ ส.ว.รวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คือประมาณ 376 คน

ขั้นตอนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นขั้นตอนที่เป็นทางการขั้นตอนแรก

หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งรัฐบาล เป็นการหาความตกลงร่วมกันว่าพรรคไหนจะร่วมกับพรรคไหน ในวิถีที่ควรจะเป็น คือ จะต้องรวมกันแล้วมีเสียงส.ส.อย่างน้อยมมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือเกินกว่า 250 เสียง ต้องพยายามหาทางให้เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากที่สุด คือเสียงส.ส.ร่วมสนับสนุนมากเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น หากได้รับโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ได้ แต่คงใม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนอยากให้เป็นรัฐบาลแบบนี้

แต่ในทางปฏิบัติจริง มีประเด็นที่ต้องมาพิจารณาซับซ้อนกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ความชอบธรรมของพรรคการเมือง ที่ได้ส.ส.มากที่สุด ต้องมีสิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน พรรคการเมืองต่างๆจะแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายกันอย่างไร / ร่วมกับใครแล้วได้รับการตอบสนองข้อเสนอดีกว่า ใครคือผู้กุมอำนาจที่แท้จริง ระหว่างอำนาจของส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง กับอำนาจที่ซ่อนอยู่ในกลไกตามรัฐธรรมนูญ อันไหนมีอิทธิพล หรือสามารถกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่า และอื่นๆอีกมากมาย

หลายเรื่องที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจเป็นเงื่อนไขที่ยังไม่เกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ

คนที่มีประสบการณ์การเมืองจะรู้ว่า ในการจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้งที่ผ่านมา ล้วนมีเรื่องราวที่แปรเปลี่ยนไปไม่เคยเป็นไปอย่างที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงทั้งนั้น

ดังนั้น การเมืองไทยทุกเรื่องจึงขึ้นอยู่กับการเจรจาตามเงื่อนไขเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเรื่องสำคัญระดับ “จะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร จะร่วมรัฐบาลกับใคร” จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรอขั้นตอนที่เหมาะสม การตัดสินใจประกาศว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นที่รู้กันว่านั่นเป็นแค่การหาเสียง ที่เป็นจริงคือการเจรจาด้วยเหตุผลเฉพาะหน้า ทุกคนในพรรคต้องร่วมกันประเมินอย่างรอบคอบ แล้วดำเนินการตามที่เรียกว่า “มติพรรค”

การบริหารการตัดสินใจของ “พรรคการเมือง”ต้องเป็นในนาม “มติพรรค” ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งจะมาทุบโต๊ะว่าพรรคต้องจัดการอย่างนั้นอย่างนี้ ดังตัวอย่างที่ยกให้เห็นว่า ขนาดพรรคที่สะสมความน่าเชื่อถือมามากมายที่สุดแล้ว แม้แต่หัวหน้ายังต้องลาออกหากไปประกาศอะไรที่เกินเลยจากมติพรรค

ความจริงทางการเมืองเป็นอย่างนี้ ทุกขั้นตอนต้องอาศัยการเจรจาในเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่เป็นปัจจุบันที่สุด จะแตกต่างกันที่ เป็นพรรคที่ตัดสินเงื่อนไขเฉพาะหน้านั้นด้วยผลประโยชน์ของใคร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 66)

Tags: , , , , ,