พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชี้แจงเหตุผลที่ไม่เข้าร่วมขึ้นเวทีดีเบตตามที่มีผู้เชิญมา เนื่องจากเป็นคนที่พูดไม่เก่ง แต่ยินดีที่จะพบปะพูดคุยเพื่อและเปลี่ยนความคิดเป็นแบบเป็นส่วนตัว
“ผมยินดีอย่างยิ่งที่จะพบปะกับทุกท่านเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดความเห็นกัน แต่ขอเป็นแบบพูดคุยส่วนตัว ผมพร้อมเสมอสำหรับทุกท่านครับ ก่อนหน้านี้ผมได้แลกเปลี่ยน พูดคุยกับสื่อมวลชนที่ติดต่อมาบางท่านแล้ว สำหรับท่านอื่นๆ ผมรอเวลาที่ท่านว่างอยู่เช่นกันครับ” พล.อ.ประวิตร ระบุ
ตนยอมรับว่าประเทศควรจะมีผู้นำที่มีความรู้ความสามารถที่สุด เพื่อให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพที่จะนำพาประเทศสู่การพัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง บริหารจัดการให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ขณะที่เครื่องชี้วัดความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพในแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ แม้การพูดจะแสดงให้ประชาชนรับทราบถึงประสิทธิภาพผู้นำ แต่ไม่ใช่วิธีเดียว
“คำพูดเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สะท้อนความเป็นจริงของความรู้ความสามารถได้น้อยที่สุด เพราะคนพูดเก่งสามารถพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็น แม้กระทั่งไม่เคยคิดได้ง่ายๆ เพียงแค่คิดขึ้นเฉพาะหน้าว่าพูดอย่างไรจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง แล้วใช้ศิลปะพูดโน้มน้าวให้คนฟังเชื่อในสิ่งที่แม้แต่ตัวเองไม่เคยเชื่อก็ได้” พล.อ.ประวิตร ระบุ
การยืนยันความรู้ความสามารถด้วยการพูดว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่เชื่อได้น้อยที่สุด เพียงแต่การแข่งขันทางการเมือง โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ความเป็นผู้นำที่ดีหรือไม่นิยมใช้โวหาร วาทกรรมเป็นเครื่องวัด การดีเบตในความหมายของการโต้วาที แสดงโวหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ประกอบกับเป็นวัฒนธรรมสังคมที่สื่อมวลชนมีบทบาท มีอิทธิพลต่อการชี้นำความคิดของประชาชน และการดีเบตเป็นวิธีที่สื่อมวลชนแสดงบทบาทได้โดดเด่น เป็นการสมประโยชน์ของทุกฝ่าย
“การดีเบตไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการแสดงให้เห็นว่านักการเมืองคนไหนพูดเก่ง มีไหวพริบในการตอบโต้ได้ดี ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับความรู้ความสามารถที่เป็นจริงของนักการเมืองคนนั้นเลยก็ได้” พล.อ.ประวิตร ระบุ
ดังนั้นผู้นำที่พูดไม่เก่ง ดีเบตไม่ดี อาจจะมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับความเป็นไปของประเทศในปัจจุบันมากกว่าก็เป็นได้ เช่นในอดีตคือ พล.อ.พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือหากมองให้กว้างออกไป ผู้นำที่ทำให้ประเทศจีนเจริญรุ่งเรื่องก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจ อย่างประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ก็ไม่ต้องแสดงความสามารถที่เหนือกว่าด้วยการดีเบตกับใคร
“การสื่อสารความคิด คำพูด การกระทำ เพื่อแสดงความรู้ ความสามารถ และประสิทธิภาพ สามารถทำได้ตามช่องทางที่เหมาะสมกับความถนัดของผู้อาสามาเป็นผู้นำของแต่ละคน โดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันเอาชนะกันว่าเป็นผู้มีความสามารถในการโต้เถียงเก่งกว่า ยิ่งไปกว่านั้นคือ ผู้นำที่มีวุฒิภาวะย่อมรู้ว่าในสังคม ในวัฒนธรรมของประเทศที่แตกต่างกันนั้น มีมากมายหลายเรื่องหากนำมาเป็นประเด็นโต้เถียงกัน ยิ่งสร้างปัญหาเพิ่ม หรือขยายปัญหาให้บานปลายไปไม่รู้จบ” พล.อ.ประวิตร ระบุ
ผู้นำที่ตระหนักถึงการแสดงออกที่เหมาะควรกับความเป็นไปของประเทศ ควรแสดงออกในการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายมีสติในการนำสังคมไปอยู่กับการเอาชนะคะคานกันด้วยการโต้เถียงในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 เม.ย. 66)
Tags: ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พรรคพลังประชารัฐ, เลือกตั้ง