เลือกตั้ง’66: นายกฯ เผยธปท.-คลัง ห่วงเสถียรภาพการเงินการคลังจากนโยบายแจกเงินดิจิทัล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเรื่องเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย ในฐานะนายกรัฐมนตรีว่า วันนี้ได้ให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจการเงินการคลังมาชี้แจง ถึงการรักษาเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศ การใช้จ่ายเงินในช่วงที่ผ่านมาว่าใช้จ่ายกันอย่างไร ซึ่งต้องใช้จ่ายพุ่งเป้าไปยังผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ ทำให้เกิดการยกระดับรายได้ในการประกอบอาชีพไม่ใช่ให้เงินเพียงอย่างเดียว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้มองในภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะร่ำรวยได้หมด แต่ทำให้สถานะทางการเงินแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เห็นได้คือเรื่องการท่องเที่ยวที่มีคนเข้ามาราว 10 ล้านคน แล้วจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากในช่วงโลว์ซีซั่นถึงเป็นการจัดหารายได้เพิ่มเติม ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยวตลอดจนด้านการลงทุนใหม่ ซึ่งช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการลงทุนเพิ่มถึง 40% เป็นจำนวนหลายแสนล้านบาท และมีการลงทุนจากภายนอกประเทศมาอีกในเรื่องอุตสาหกรรมใหม่ๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีให้มากยิ่งขึ้นวันนี้ได้เดินหน้าไปแล้ว ซึ่งจะเป็นรายได้ที่นำมาตอบสนองความต้องการของประชาชนที่หลายคนต้องการและอยากจะได้มากขึ้น ถ้าหาเงินไม่ได้ก็จะลำบาก

ดังนั้นงบประมาณต่างๆ ในปี 2567 ที่ได้ตั้งมาแล้ว การแก้ไขอะไรต่างๆ ก็ต้องไปแก้ไขในสภาในรัฐบาลหน้า เพราะเป็นระเบียบของงบประมาณที่ต้องทำไว้ก่อนแล้ว และเป็นเรื่องที่ต้องทำโดยเฉพาะเรื่องการลงทุน ซึ่งก็มีกฎหมายชัดเจนว่าแต่ละหน่วยงานจะต้องใช้กี่เปอร์เซนต์ และมีเงินเหลือเท่าไหร่ และมีงบประมาณในการใช้หนี้ในการเติมเงินคงคลังที่ได้สำรองจ่ายไปในช่วงโควิด เพราะจะต้องมองในบริบทใหญ่

“การจะทำอะไรใหม่ๆ ก็ตามต้องคำนึงว่าเรามีทรัพยากรอยู่เท่าไหร่ ดูแลใครได้บ้างและมากน้อยแค่ไหน ถ้าทำอะไรต่างๆ มากเกินไป สิ่งที่ทำอยู่แล้วเดิมก็จะสูญเสียไปทั้งหมด อะไรที่เคยได้ก็จะไม่ได้ เพราะไปทำเรื่องใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะคุ้มค่าหรือไม่ กับการที่ต้องสูญเสียไป ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องช่วยกันคิด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีข้อเสนอแนะให้ระมัดระวังเรื่องความมีเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งวันนี้เราถือเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่รักษามาตรฐานตรงนี้ไว้ได้ในองค์กรทางด้านการเงินระหว่างประเทศซึ่งได้รับความชื่นชมว่าบริหารจัดการได้ดีการเงินมีเสถียรภาพ ซึ่งหลายอย่างดีขึ้น เพียงแต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจของประชาชนโดยรวม ซึ่งต้องเห็นใจรัฐบาลด้วย ถ้ามีก็จะดูแลให้หมด ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งต้องระมัดระวังที่สุดในเรื่องของการใช้จ่ายเงิน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 66)

Tags: , ,