เลือกตั้ง’66: ชพก.จี้รัฐลดค่าไฟฟ้า หลังต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง คือ รัฐบาลต้องยกเลิกค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่า Ft) ในช่วง 3 เดือนนี้ทันที ซึ่งทำได้เลย เพราะต้นทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดลงมากจากราคาก๊าซ LNG ที่ถูกลงมาตลอด โดยพรรคเสนอว่าต้องรื้อโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้า เนื่องจากเวลานี้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของไทยใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่เป็นฟอสซิลในปริมาณที่สูงเกินกว่า 50% นอกจากนั้น ยังมีถ่านหินและน้ำมันซึ่งมีต้นทุนราว 5 บาท ส่วนที่เป็นพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ไทยใช้ไม่ถึง 10% ทั้งที่ปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 2 บาท กลับเลือกใช้น้อยที่สุด

ส่วนสาเหตุที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบาย เพราะติดขัดเรื่องผลประโยชน์หรือไม่นั้น นายกรณ์ กล่าวว่า นี่เป็นประเด็นสำคัญว่าการจะแก้ปัญหา จะต้องมีความกล้าทางการเมืองที่จะรื้อโครงสร้างไฟฟ้า โดยต้องเปิดเสรีให้กับประชาชนมีสิทธิเป็นผู้ลงทุน ซึ่งมีความแตกต่างกับปัจจุบัน คือไม่ต้องพึ่งทุนใหญ่กับรัฐวิสาหกิจ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

“วันนี้การลงทุนครั้งใหญ่ในการสร้างกำลังผลิตไฟฟ้าให้ต้นทุนถูกลง คือเราต้องปลดแอก ให้ประชาชนทุกคนที่มีหลังคาเรือน สามารถเข้าถึงเงินทุนที่จะเข้าถึงแผงโซล่า และให้สิทธิในการขายไฟส่วนเกินคืนให้กับรัฐในราคาเดียวกันกับราคาค่าไฟที่ซื้อจากรัฐ ซื้อ 5 บาท แต่ปัจจุบันขายคืนในราคา 2.20 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การลงทุนโดยภาคประชาชน ภาคเอกชน มันไม่เกิด” นายกรณ์ กล่าว

หัวหน้าพรรค ชพก. กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนในแง่ของโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของทุนใหญ่ ดังนั้นควรเปิดเสรีเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเป็นผู้ลงทุนในส่วนนี้ได้ เพราะเทคโนโลยีไปถึงจุดนั้นแล้ว แต่อุปสรรคสำคัญคือ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของนโยบาย แต่อีกส่วนคือเรื่องของแหล่งทุน เพราะฉะนั้นพรรคจึงเสนอแหล่งทุนเพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เองได้โดยปลอดดอกเบี้ย ส่วนต้นทุนคือเงินที่ต้องใช้ในการติดตั้ง สามารถผ่อนจ่ายด้วยเม็ดเงินที่ประหยัดจากค่าไฟ ซึ่งคำนวณมาแล้วไม่เกิน 5 ปีก็คืนทุน หลังจากนั้นประชาชนจะได้ใช้ไฟฟ้าฟรีเลย สามารถทำได้ทันทีหลายล้านครัวเรือน และการติดตั้งก็ใช้เวลาไม่นาน

นอกจากนี้ พรรคยังเสนอให้มีการแยกสายส่งออกมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นรัฐวิสาหกิจต่างหาก เพื่อเปิดเสรีการซื้อขายไฟ ระหว่างภาคเอกชนกับภาคประชาชน เพราะตอนนี้การไฟฟ้าฯ อยากเป็นผู้ผลิตและหวงสิทธิในการผลิตเอง เพราะฉะนั้นใครจะมาใช้ระบบสายส่งของเขาไม่ได้

ขอเปรียบเทียบเมื่อหลายสิบปีก่อน ในช่วงที่มีการแปรรูป ปตท. เงื่อนไขคือปกป้องผลประโยชน์ประชาชน คือ การจะแปรรูปได้แต่ต้องแยกท่อแก๊สออกมา เพื่อเจ้าอื่นจะได้ส่งแก๊สผ่านท่อแก๊สนั้นได้ แต่ตราบใดที่ยังอยู่ ปตท. เขาก็จะตั้งเงื่อนไขต่างๆ เพื่อทำให้การแข่งขันไม่เกิด

“เราเน้นเรื่องของการแข่งขันที่เป็นธรรม ประชาชนสามารถที่จะเซ็นซื้อขายไฟระหว่างกันได้ เขาต้องมีสายส่งที่สามารถส่งไฟถึงกันได้ เราไม่ได้แปรรูป แต่แยกออกมาเป็นรัฐวิสาหกิจต่างหาก มีตัวชี้วัดที่แตกต่างชัดเจน เพื่อเปิดให้เกิดการลงทุนและการซื้อขาย และไหนๆ รัฐก็ลงทุนในระบบสายส่งไปแล้ว การที่คนมาใช้มากที่สุด จะเป็นการดีสำหรับรัฐ เนื่องจากคุ้มค่าต่อเม็ดเงินการลงทุน เพราะฉะนั้นเป้าหมายทั้งหมดคือ เพื่อปรับโครงสร้างตัวอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าให้หันมาใช้ต้นทุนการผลิตที่ถูกที่สุด คือต้นทุนพลังงานแสงแดดให้มากขึ้น โดยผู้ลงทุนต้องเป็นประชาชน ทุกคนมีสิทธิที่จะลงทุนเพื่อประหยัดค่าไฟของตนเอง แล้วมันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นี่คือสิ่งที่นายทุนกลัวมาก แต่เป็นสิ่งที่เรามั่นใจว่าประชาชนจะต้องทำ” นายกรณ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 66)

Tags: , , , , , ,