เลือกตั้ง’66: “กิตติรัตน์” ย้ำ “เติมเงินดิจิทัล” ช่วยฟื้นไข้เศรษฐกิจหยุดป่วยเรื้อรัง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง มาตรการเติมเงินดิจิทัล ว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นขึ้นอีกครั้ง และมาตรการนี้ เป็นหนึ่งในชุดนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ที่จะดำเนินการเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ที่เลวร้าย กระตุ้นหัวใจ จากการบริหารด้านเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของรัฐบาลชุดก่อน จนประเทศป่วยเรื้อรัง ดังนั้นการ “หยอดน้ำข้าวต้ม” หรือ “แจกเงิน” แบบกระปริบกระปรอยแบบที่เคยทำมา จึงไม่ทำให้ประเทศฟื้นตัว และคนไทยส่วนใหญ่หลุดพ้นความยากจนไม่ได้

นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าเกินไป เผชิญภาวะเงินฝืดราคาเฟ้อ (Stagflation) ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศลดลง ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น (รวยกระจุก จนกระจาย) หนี้สาธารณะสูงขึ้นมาก หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนลง (ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก แต่รายได้ไม่เพิ่ม) NPL ในสถาบันการเงินไต่ระดับเพิ่มขึ้น ผู้สำเร็จการศึกษาหางานทำไม่ได้ และการส่งออกส่งสัญญาณอ่อนแรง ซึ่งน่าเสียดายที่รัฐบาลชุดก่อน แม้จะมีเวลาแก้ไข แต่กลับไม่รู้สึกตัวและไม่คิดแก้ไขอะไร ยังพอใจเพียงการ “แจกเงิน” แบบกระปริบกระปรอยจนกลายเป็นภาวะ “เรื้อรัง” มองไม่เห็นความหวังที่จะช่วยให้คนส่วนใหญ่ของประเทศหลุดพ้นความยากจน

ในฐานะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นว่า มาตรการกระตุ้นด้วยการเติมเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยนี้ นอกจะสามารถป้องกันเศรษฐกิจจากความเสี่ยงที่จะซวนเซจนยากที่จะแก้ไขแล้ว ยังเป็นการสร้างความพร้อมให้กับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินการนี้ ยังประกอบด้วยชุดนโยบาย และมาตรการของพรรคเพื่อไทย ในการ “เพิ่มผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) และเพิ่มประสิทธิผล (Effectiveness)” ของทุกภาคส่วนอย่างสอดประสานกัน ทั้งด้านอุปสงค์ (Demand Side) ที่ประกอบด้วย การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ การลงทุนของภาคเอกชน ดุลการส่งออก การท่องเที่ยว การบริการ และการใช้จ่ายของภาครัฐ คู่ขนานกับการทำงานอย่างหนัก ด้านอุปทาน (Supply Side) ของภาคอุตสาหกรรม ภาคการพาณิชย์ ภาคบริการ และภาคการเกษตร ซึ่งย่อมเป็นไปตามแนวทางหลักของพรรคเพื่อไทย คือลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เพิ่มรายได้จากการส่งออก และการท่องเที่ยว เพิ่มผลิตภาพแรงงานจนค่าแรงขึ้นต่ำ และเงินเดือนผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับเป้าหมายในเวลาที่กำหนด และเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า จากราคาดี × ผลผลิตเพิ่ม – ต้นทุนลด

อย่างไรก็ตาม แผนสร้างการเจริญเติบโต GDP ของพรรคเพื่อไทย ให้ถึงและเกินอัตราที่จำเป็น คือปีละ 5% อย่างมีการกระจายรายได้ที่ดี และมีเสถียรภาพของราคาสินค้า ย่อมทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะ / GDP ดีขึ้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือน / GDP ดีขึ้น ภาคธุรกิจทั้งรายย่อย รายใหญ่มีกำไร และเติบโต ผู้คนมีงานทำ ค่าแรงและค่าตอบแทนจากการทำงานสูงขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือนของภาคประชาชนดีขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลมีรายได้เพื่มขึ้น ความสามารถในการเพิ่มงบประมาณ ทั้งเพื่อชำระหนี้ และเพื่อรายจ่ายรวม ที่ครอบคลุมสวัสดิการต่างๆ จะดีขึ้น และความสามารถในการชำระ “หนี้สาธารณะของภาครัฐ” จะดีขึ้น

นายกิตติรัตน์ กล่าวปิดท้ายว่า กรณีผู้พยายามผูกโยง การวิจารณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อต้นปี 2565 ว่าการแจกเงินสดแบบทีละน้อยๆ แจกไปเรื่อยๆ จนใช้เงินรวมกันไปแล้วมากมาย แต่ไม่เกิดผลดีอะไรกับเศรษฐกิจเป็นเรื่อง “ปัญญาอ่อน” นั้น ตนก็เห็นว่าคำวิจารณ์ ยังคงเป็นความจริงเช่นนั้นอย่างไม่อาจเปลี่ยนแปลง แต่บริบทนั้น เกิดขึ้นเพื่อวิจารณ์วิธีการแจกเงินแบบกระปริบกระปอย และกระทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนใช้งบประมาณมากมายแต่ไม่เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับจากการที่พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะเสริมพลังทางเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้น ‘เติมเงินดิจิทัลใส่กระเป๋าเงินคนไทย’ ที่คุณเศรษฐาประกาศเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 เพราะมาตรการนี้คือการกระตุกกระตุ้นหัวใจเศรษฐกิจ หยุดยั้งสถานการณ์เลวร้ายของรัฐบาลชุดก่อน

“ถ้ารัฐบาลชุดก่อนใช้เวลาที่เคยมี คิดแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประเทศอย่างชาญฉลาด และจริงจัง พรรคเพื่อไทย ก็ไม่จำเป็นต้องประกาศ ‘เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ใส่กระเป๋าเงินคนไทย’ เพราะเหตุผลการประกาศใช้มาตรการนี้ ก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้แรงพอ และทันเหตุการณ์ ไม่ปล่อยให้ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และแม้แต่ภาคสถาบันการเงิน เสี่ยงที่จะซวนเซป่วยเรื้อรังไปทั้งระบบ จนยากที่จะแก้ไข ให้เศรษฐกิจประเทศไทยกลับมาฟื้นแข็งแรงอีกครั้ง ประชาชนส่วนใหญ่ จะหลุดพ้นความยากจนเสียที”

รองประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 66)

Tags: , ,