นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความพร้อมของ กทม.ในการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค. 66 และการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.66 ทางกทม.ได้จัดเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ได้แก่
– ด้านสถานที่สำหรับใช้ในการลงคะแนนเสียง ขณะนี้ กกต .เขตได้ทำการประกาศและปิดประกาศไว้ที่หน่วยเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบแล้ว ก่อนวันที่ 18 เม.ย. 66
– ด้านบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นายทะเบียนท้องถิ่นเขตได้ทำการประกาศ และติดประกาศให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนวันที่ 18 เม.ย. 66 พร้อมมีหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปให้เจ้าบ้านทราบแล้ว ก่อนวันที่ 23 เม.ย. 66
– ด้านบุคลากรที่จะใช้ในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง กกต.เขต ได้แต่งตั้งเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 23 เม.ย. 66 และจัดอบรมซักซ้อมการปฏิบัติงานให้กับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานดังกล่าวประมาณ 60,000 คน เมื่อวันที่ 29-30 เม.ย. 66
– ด้านวัสดุอุปกรณ์ เช่น หีบบัตรเลือกตั้ง คูหาลงคะแนน ป้ายปิดประกาศ อื่นๆ ได้จัดเตรียมไว้พร้อมแล้ว
– ด้านงบประมาณ สำนักงาน กกต. และสำนักงาน กกต.กทม. ได้โอนงบประมาณให้แต่ละเขตเลือกตั้ง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว และได้สั่งการเน้นย้ำเรื่องการเข้าถึงคูหาได้ของผู้พิการ การระมัดเรื่องความสับสนเพราะในบางเขตมีหลายหน่วยเลือกตั้ง วิธีขั้นตอนการเลือกตั้ง การหย่อนบัตร และอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญคือน้ำท่วม เกรงว่าหากฝนตกบางพื้นที่ที่มีน้ำท่วมอาจเกิดอุปสรรคได้ ได้เตรียมอุปกรณ์ต่างๆรวมถึงเครื่องสูบน้ำไว้พร้อม
ส่วนมาตรการเสริมที่ กทม. พร้อมจะดำเนินการ คือ การดูแลหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี โดยสำนักงานเขตติดตั้งกล้อง CCTV และติดตัวตรวจจับความเคลื่อน (motion detect) ตลอด 24 ชั่วโมง หากมีการเคลื่อนไหวระบบก็จะแจ้งเตือนมายังเจ้าหน้าที่ทันที ขณะนี้ได้เชื่อมกล้องครบแล้วทั้ง 33 จุด จากทั้งหมด 33 เขตเลือกตั้ง
กทม. เล็งขออนุญาต กกต.ใช้ AI ช่วยอ่านคะแนนเลือกตั้ง
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กกต. มีการถ่ายรูปใบรายงานผลการนับคะแนน (5/18) ที่แปะอยู่หน้าหน่วยอยู่แล้ว ในขณะที่ กทม. จะมีอุปกรณ์คล้าย AI สามารถอ่านคะแนนได้ ขณะนี้ได้ส่งหนังสือขออนุมัติไปยังกกต.แล้ว หาก กกต.ตอบกลับมาก็จะนำมาช่วยให้การนับคะแนนเร็วขึ้น และจะพยายามตรวจยอดคนที่มาลงคะแนนแต่ละช่วงเวลาว่ามีคนมาใช้สิทธิกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว จะได้ไม่มีข้อกังวลเรื่องบัตรเขย่ง
ส่วนประเด็นที่ กกต.เป็นกังวล คือ จะต้องไม่เพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้การปฏิบัติภารกิจเดิมไม่ครบถ้วนนั้น ยืนยันว่า กทม.จะไม่ไปเพิ่มภาระแก่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วย แต่จะหาอาสาสมัครเป็นผู้ดำเนินการแทน
นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า กกต.เพิ่มกระบวนการ 2 เรื่องที่เป็นประโยชน์ เรื่องแรก เป็นการให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งถ่ายรูปแบบ 5/18 ส่งมาตรวจสอบความถูกต้องก่อน จะทำให้ความโปร่งใสดีขึ้น เรื่องที่สองคือ กกต.ติดประกาศที่หีบบัตรลงคะแนนให้คนที่จะลงคะแนนเห็นชัดว่าหีบไหนสำหรับบัตรเลือกตั้งแบบเลือกแบ่งเขต หีบไหนสำหรับบัตรเลือกตั้งแบบเลือกพรรค เป็นการป้องกันความสับสนในการหย่อนบัตรเลือกตั้ง
“สำหรับการใช้ AI ช่วยนับคะแนน ซึ่งเป็นการจับตัวเลขที่เขียนลงไป ปัญหาคือ เมื่อเลือกตั้งเสร็จ การนับคะแนนจะเป็นช่วงเย็นช่วงค่ำ ไฟจะมืด เมื่อถ่ายรูปไม่ชัด จะอ่านค่อนข้างลำบาก จากการทดลองล่าสุดได้ประมาณ 30% เพราะเป็นการอ่านจากลายมือที่ขีดคะแนนในแบบ 5/18 ก็พยายามนำเข้าข้อมูลให้มากขึ้น” นายต่อศักดิ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 66)
Tags: CCTV, กกต., กทม., กรุงเทพมหานคร, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นับคะแนน, หีบบัตรเลือกตั้ง, เลือกตั้ง