นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการหาเสียงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบนเวทีปราศรัยว่า การหาเสียงนั้นการพูดเรื่องความจริงหรือข้อเท็จจริงสามารถทำได้ และเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่อย่าพูดจาใส่ร้ายด้วยความเท็จ แต่คนที่มีตำแหน่งหน้าที่จะแบ่งเป็น 2 ประเภท 1.คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 กำหนด และ 2.ข้าราชการ อย่าใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเป็นคุณเป็นโทษต่อผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
บางครั้งต้องแยกการใช้ตำแหน่งหน้าที่กับความไม่เป็นกลางทางการเมือง เพราะความไม่เป็นกลางทางการเมืองไม่ได้ผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่จะผิดตามมติ ครม. และกฎหมายข้าราชการพลเรือน และบางครั้งการใช้ตำแหน่งหน้าที่ก็อาจจะเกี่ยวเนื่องกับความไม่เป็นกลางทางการเมืองด้วย
นอกจากนี้การหาเสียงกฎหมายกำหนดว่าอย่าจัดมหรสพหรือรื่นเริง ซึ่งคำว่ารื่นเริงจะขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างการใช้เพลงของพรรคประกอบในการหาเสียงอยากจะให้เป็นการเปิดเพลง แทนการร้องสดหรือมีการแสดงประกอบ เพราะจะหมิ่นเหม่ จึงอยากให้หลีกเลี่ยง
สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง สามารถร่วมกิจกรรมที่มีงานรื่นเริงได้ หรือหาเสียงได้ แต่ต้องพึงระวังอย่าไปจัดเองหรือทำเพื่อประโยชน์ในการหาเสียง เพราะกฎหมายห้ามจัดมหรสพและงานรื่นเริง
นายแสวง กล่าวว่า จากวันนี้จนถึงวันลงคะแนนสำนักงาน กกต.พยายามจะบริหารสถานการณ์การเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมาจะมีการร้องเรียน 2 เรื่อง คือการให้เงินให้ทรัพย์สิน และเรื่องความไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยสำนักงาน กกต.ได้ดูแลเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานจากทางจังหวัดว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อสิทธิขายเสียง มีแต่ที่เป็นข่าว หากมีการให้ข่าวเกี่ยวกับการทำผิดเลือกตั้งสำนักงานฯจะมีหนังสือเชิญทุกท่านที่ให้ข่าวว่ามีการซื้อสิทธิขายเสียงมาให้ถ้อยคำ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารและจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยในพื้นที่ส่วนกลาง สำนักงาน กกต.จะเป็นผู้เชิญเอง แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานกกต.ประจำจังหวัดจะเป็นผู้เชิญ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 66)
Tags: กกต., หาเสียง, เลือกตั้ง, แสวง บุญมี