พ.ต.ท. กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงถึงการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ห้ามเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติซ้ำตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อที่ 41 เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้รัฐสภาระงับหรือการดำเนินการให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้นว่า นอกจากผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีบทบาท หน้าที่และอำนาจตามพ.ร.ป ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 22 แล้วนั้น ยังมีหน้าที่และอำนาจตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 และมาตรา 48 ที่กำหนดว่า เมื่อบุคคลถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้จากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ ซึ่งการละเมิดนั้นเป็นผลจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกละเมิดสิทธิสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน
โดยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ผู้ร้องเรียนจึงมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ ผู้ร้องเรียนถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง จากการกระทำของรัฐสภา ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐที่ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ และมติตีความของรัฐสภาที่เกิดขึ้น มีผลเป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ กำหนดเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะแล้วมาตรา มาตรา 159 ประกอบ มาตรา 272 ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน ประกอบกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 จึงเข้าองค์ประกอบและหลักเกณฑ์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติ
“ที่สำคัญในคำร้องเรียนผู้ร้องเรียนได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถใช้ดุลยพินิจพิจารณามาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยได้ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 มาตรา 71 โดยผู้ร้องเรียนส่วนหนึ่งเป็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และได้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นการแสดงเจตจำนงที่จะได้บุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากมติตีความดังกล่าวของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิของผู้ร้องเรียน
ทำให้บุคคลที่ผู้ร้องเรียนแสดงเจตจำนงผ่านการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับการพิจารณาเห็นชอบโดยสมาชิกรัฐสภาเพียงครั้งเดียวในสมัยประชุมเดียวกัน และผลของการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของรัฐสภายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงกระทบต่อความมั่นคงแห่งสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนทั่วไป และยังสร้างแนวบรรทัดฐานที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่บุคคลที่ได้รับการเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในครั้งแรกแล้วไม่ได้รับความเห็นชอบจะไม่สามารถเสนอให้รัฐสภาพิจารณาซ้ำได้อีก ทำให้กระบวนการคัดเลือกแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญขัดต่อหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของประเทศ ดังนั้น หากไม่มีการยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาต่อสิทธิของผู้ร้องเรียน”
ส่วนผู้ร้องเรียนซึ่งเป็นส.ส. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่โดยตรงในการเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี หากมติตีความของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้องเรียน ทำให้ผู้ร้องเรียนลงคะแนนเห็นชอบบุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียงครั้งเดียวในสมัยประชุมเดียวกัน และผลของการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และโดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นประมุขของฝ่ายบริหารอันถือเป็นตำแหน่งสำคัญที่มีหน้าที่จัดตั้งคณะรัฐมนตรีและบริหารราชการแผ่นดิน และจะต้องนำความกราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง หากรัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่ต่อมาภายหลังแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ร้องเรียนก็ไม่อาจจะใช้สิทธิลงคะแนนเลือกบุคคลที่ได้เคยเสนอชื่อต่อรัฐสภาได้อีกต่อไป ดังนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน
เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุอันมีน้ำหนักรับฟังได้ มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.ปว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 มาตรา 71 จึงเห็นพ้องกับคำร้องเรียนที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ค. 66)
Tags: กีรป กฤตธีรานนท์, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ศาลรัฐธรรมนูญ, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, โหวตนายก