‘เยลเลน’ จี้คองเกรสเพิ่มเพดานหนี้ภายใน 18 ต.ค. เตือนสหรัฐจ่อผิดนัดชำระหนี้

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้กล่าวกับนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐว่า สภาคองเกรสมีเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ในการพิจารณาเรื่องการขยายเพดานหนี้ และหลีกเลี่ยงหายนะที่จะเกิดกับเศรษฐกิจของประเทศ

“สิ่งที่เราประมาณการในขณะนี้ก็คือว่า เม็ดเงินในมาตรการพิเศษของกระทรวงการคลังจะหมดลงหากสภาคองเกรสไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้หรือระงับเพดานหนี้ภายในวันที่ 18 ต.ค.นี้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เราคาดว่ากระทรวงการคลังจะมีทรัพยากรที่จำกัดมากและจะหมดลงอย่างรวดเร็ว”

นางเยลเลนระบุในจดหมายที่ส่งถึงนางเพโลซี

นอกจากนี้ นางเยลเลนยังได้กล่าวเตือนในระหว่างการแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อวานนี้ว่า หากสภาคองเกรสล้มเหลวในการเพิ่มเพดานหนี้ ก็จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ

“แม้ว่าเศรษฐกิจของเรายังคงมีการขยายตัว และการจ้างงานได้ฟื้นตัวขึ้นจากปีที่แล้ว แต่เราก็ยังคงเผชิญกับผลกระทบจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาซึ่งยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเป็นอุปสรรคต่อการมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ดิฉันยังคงมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลาง และคาดว่าสหรัฐจะมีการจ้างงานเต็มศักยภาพในปีหน้า”

“จำเป็นอย่างยิ่งที่สภาคองเกรสจะต้องแก้ไขปัญหาเพดานหนี้โดยเร็ว เนื่องจากความเชื่อมั่นและอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐจะได้รับผลกระทบ ขณะที่สหรัฐจะเผชิญกับวิกฤตทางการเงินและภาวะเศรษฐกิจถดถอย” นางเยลเลนระบุในแถลงการณ์

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐจะส่งผลให้เกิดหายนะทางการเงิน ซึ่งจะกดดันให้เกิดแรงเทขายในตลาดต่าง ๆ เป็นวงกว้าง อีกทั้งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

นางเยลเลนกล่าวถึงประเด็นนี้ในระหว่างการแถลงต่อสภาคองเกรสว่า “คุณจะได้เห็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นหากสภาคองเกรสไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งดิฉันคาดว่ามันจะส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์และหายนะทางการเงิน และแน่นอนว่า การชำระดอกเบี้ยพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐก็จะสูงขึ้นด้วย”

ทั้งนี้ เพดานหนี้คือจำนวนเงินทั้งหมดที่รัฐบาลสหรัฐได้รับอนุญาตให้ทำการกู้ยืมเพื่อให้รัฐบาลสามารถชำระหนี้ตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการด้านประกันสังคมและด้านสุขภาพ, ดอกเบี้ยตราสารหนี้ของรัฐบาล และการใช้จ่ายอื่นๆ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,