เมียนมาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 20% หวังรับมือปัญหาเงินเฟ้อพุ่งแรง

รัฐบาลทหารเมียนมาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 20% ในการปฏิรูปค่าจ้างครั้งใหญ่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ. 2564 และถือเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกของเมียนมานับตั้งแต่ปี 2561 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบปัญหาราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลต์ ออฟ เมียนมา (Global New Light of Myanmar) ของทางการเมียนมารายงานเมื่อวันอาทิตย์ (8 ต.ค.) ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างใหม่ดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. โดยครอบคลุมสถานที่ทำงานและโรงงานในทุกภาคส่วนทั่วประเทศ

รายงานระบุว่า เมียนมาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน 1,000 จ๊าด จากเดิม 4,800 จ๊าด เป็น 5,800 จ๊าด โดยเมียนมากำหนดให้มีการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง

ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนอีกเดือนละ 30,000 จ๊าด

การปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าวมีขึ้นในช่วงที่เมียนมาเผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างหนักหน่วง โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ในเดือนก.ย.ว่า เงินเฟ้อเมียนมาอาจเพิ่มขึ้น 3.5 เปอร์เซ็นต์จุด สู่ระดับ 14.0% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย. แม้ ADB ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียโดยรวมจาก 4.2% เป็น 3.6%

เงินจ๊าดที่อ่อนค่าถือเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว ส่วนต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการซึ่งกำหนดไว้ที่ 2,100 จ๊าดต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ กับอัตราแลกเปลี่ยนที่ประชาชนใช้ในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินนั้น ได้ขยายกว้างขึ้น โดยปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้กันในตลาดแลกเปลี่ยนนั้นอยู่ที่ประมาณ 3,300 จ๊าดต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เคยพุ่งสูงถึง 4,000 จ๊าด ทำให้ราคาอาหารและยาพุ่งทะยานขึ้น ส่วนสินค้าจำเป็น เช่น น้ำมันปรุงอาหารและข้าว มีราคาแพงขึ้น 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2564

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ต.ค. 66)

Tags: , , ,