“เมตา” จ่อลบแท็บข่าวเฟซบุ๊กในสหรัฐ-ออสเตรเลีย หลังความนิยมลดฮวบ ขณะกระแส Reels มาแรง

เมตาเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (29 ก.พ.) ว่า จะลบฟังก์ชันเฉพาะสำหรับบทความข่าวออกจากเฟซบุ๊ก (Facebook News Tabs) ในเดือนเม.ย.นี้ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหรัฐและออสเตรเลีย

เมตาอธิบายถึงสาเหตุในการตัดสินใจลบแท็บข่าวบนเฟซบุ๊กว่า เป็นส่วนหนึ่งของพยายามอย่างต่อเนื่องในการปรับการลงทุนในผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความนิยมของผู้ใช้ให้มากที่สุด

“ในฐานะบริษัท เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเวลาและทรัพยากรของเรา ในสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้ใช้บอกเราว่าพวกเขาต้องการเห็นอะไรบนแพลตฟอร์มมากขึ้น เช่น วิดีโอแบบสั้น” เมตาระบุบนโพสต์ในบล็อกของบริษัท พร้อมชี้ว่า จำนวนผู้ใช้งานแท็บข่าวบนเฟซบุ๊กในออสเตรเลียและสหรัฐลดลงมากกว่า 80% ในปี 2566

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การตัดสินใจของเมตาในการลบแท็บข่าวออกจากเฟซบุ๊กนั้นมีขึ้นหลังจากที่บริษัทประกาศเมื่อเดือนก.ย. 2566 ว่า จะดำเนินการเช่นเดียวกันสำหรับผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและเยอรมนี และนับเป็นความเคลื่อนไหวอีกครั้งของเมตาในความพยายามแยกตัวออกจากอุตสาหกรรมข่าว หลังจากตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาเป็นเวลานานหลายปีในเรื่องแนวทางในการจัดการข้อมูลเท็จและการบังคับใช้นโยบายอื่น ๆ ในการกลั่นกรองเนื้อหาในแอปต่าง ๆ ของเมตา

แม้ว่าเมตาจะเปิดแท็บข่าวบนเฟซบุ๊กเมื่อปี 2562 โดยตั้งใจให้ผู้ใช้ได้ใกล้ชิดกับเรื่องราวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขามากขึ้น แต่ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปทุ่มเทในการพัฒนาคอนเทนต์วิดีโอสั้นผ่านรีลส์ (Reels) ท่ามกลางการเผชิญกับการแข่งขันจากไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของติ๊กต๊อก (TikTok)

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบกับข้อตกลงด้านข่าวบนเฟซบุ๊กในปัจจุบันระหว่างเมตากับผู้เผยแพร่ข่าวในออสเตรเลีย ฝรั่งเศสและเยอรมนี แต่ข้อตกลงนี้ได้หมดอายุแล้วในสหรัฐและสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม เมตากล่าวว่าจะไม่ทำข้อตกลงทางการค้าใหม่สำหรับเนื้อหาข่าวแบบดั้งเดิมในประเทศเหล่านี้ และจะไม่นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของเฟซบุ๊กสำหรับผู้เผยแพร่ข่าวโดยเฉพาะในอนาคต

เมตากล่าวอีกว่า จะยังคงลงทุนในผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ต่อไป และองค์กรข่าวต่าง ๆ ยังคงสามารถใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของเฟซบุ๊กได้ เช่น Reels และระบบโฆษณา เพื่อเข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้าง และเพื่อดึงดูดผู้ใช้ไปยังเว็บไซต์ของพวกเขา ซึ่งเฟซบุ๊กยังคงมีรายได้ 100% จากการคลิกลิงก์จากเฟซบุ๊ก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มี.ค. 67)

Tags: , , , ,