ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของภาคธนาคารเมื่อคืนวานนี้ตามเวลาไทย โดยระบุว่า ธนาคารรายใหญ่ทั้ง 23 แห่งของสหรัฐสามารถผ่านการทดสอบ ซึ่งจะเปิดทางให้ธนาคารเหล่านี้สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลและซื้อคืนหุ้นได้อีกครั้ง
รายงานของเฟดระบุว่า ธนาคารรายใหญ่ทั้ง 23 แห่งซึ่งรวมถึง แบงก์ ออฟ อเมริกา, เจพีมอร์แกน เชส และซิตี้กรุ๊ป ยังคงมีฐานเงินทุนขั้นต่ำที่ตรงตามข้อกำหนดของเฟด ซึ่งจะสามารถรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ โดยสถานการณ์สมมติที่เฟดกำหนดขึ้นเพื่อทดสอบภาวะวิกฤตในครั้งนี้รวมถึงกรณีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มผู้ถือตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน รวมทั้งกรณีที่อัตราว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับ 10.8% และตลาดหุ้นทรุดตัวลงรุนแรงถึง 55%
นอกจากนี้ ข้อกำหนดยังระบุว่า หากภาคธนาคารประสบภาวะขาดทุนเป็นวงเงินรวม 4.74 แสนล้านดอลลาร์ ธนาคารจะต้องมีเงินทุนกันชนเพื่อรองรับการขาดทุน (loss-cushioning capital) มากกว่าเงินทุนขั้นต่ำที่กำหนดไว้กว่า 2 เท่า
ทั้งนี้ เฟดระบุว่า การที่ธนาคารรายใหญ่ทั้ง 23 แห่งสามารถผ่านการทดสอบ Stress Test จะทำให้ธนาคารเหล่านี้สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ในระดับปกติ และกลับมาซื้อคืนหุ้นได้อีกครั้งหลังวันที่ 30 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากธนาคารมีเงินทุนที่เพียงพอจะรับมือหากเกิดกรณีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง
การทดสอบ Stress Test ของเฟดครอบคลุมถึงการประเมินว่า มีความปลอดภัยหรือไม่ที่ธนาคารต่างๆ จะดำเนินการตามแผนการใช้จ่ายเงินทุน ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินปันผล และการใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากการตั้งสำรองหนี้เสีย โดยการทดสอบดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินภาษีของประชาชนมาอุ้มธนาคารต่างๆ เหมือนในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินปี 2550-2552
ทางด้านนางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานเฟดซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังสหรัฐ แสดงความเชื่อมั่นว่า ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐมีสถานะแข็งแกร่งเพียงพอที่จะได้รับอนุญาตให้จ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืนได้ ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มิ.ย. 64)
Tags: Stress Test, ธนาคารกลางสหรัฐ, ธนาคารพาณิชย์, สหรัฐ, เจเน็ต เยลเลน, เฟด