เฟซบุ๊ก – อินสตาแกรมจ่อให้บริการประเภทปลอดโฆษณาในยุโรป 11 ดอลลาร์/เดือน

บริษัทเมตา แพลตฟอร์ม อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม (IG) ระบุเมื่อวันจันทร์ (30 ต.ค.) ว่า บริษัทจะเสนอบริการสมัครสมาชิกแบบปลอดโฆษณาบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมในฐานะบริการทางเลือกในทวีปยุโรป หลังเผชิญปัญหาสำคัญจากบรรดาหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบในทวีปยุโรปในปีนี้

ทั้งนี้ ประชาชนในสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 27 ประเทศ เขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) และสวิตเซอร์แลนด์ จะสามารถสมัครสมาชิกรายได้ 9.99 ยูโร หรือ 11 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับการจ่ายเงินผ่านทางเว็บไซต์ หรือ 14 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับการจ่ายเงินผ่านทางระบบปฏิบัติการ iOS และแอนดรอยด์เพื่อเข้าถึงบริการเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมประเภทปลอดโฆษณา

การสมัครบริการประเภทปลอดโฆษณานี้จะครอบคลุมทุกช่องทางการใช้บัญชีของผู้ใช้งานรายนั้น ๆ ไม่ว่าจะใช้งานผ่านทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น แต่ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 เมตาจะเก็บค่าบริการเพิ่ม 6 ยูโรต่อเดือนสำหรับการจ่ายเงินผ่านทางเว็บไซต์และ 8 ยูโรสำหรับการจ่ายเงินผ่านทางแอปพลิเคชั่นในกรณีที่ผู้ใช้งานสมัครบัญชีเพิ่มเติม

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของไอร์แลนด์สั่งปรับเมตาเป็นเงิน 390 ล้านยูโรในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเมตาละเมิดกฎหมายกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (General Data Protection Regulation : GDPR) ซึ่งเป็นกฎหมายด้านความเป็นส่วนตัวที่สำคัญของยุโรป โดยหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของไอร์แลนด์ตรวจพบว่า เมตาได้กำหนดให้ประชาชนต้องยอมรับเงื่อนไขการบริการ ซึ่งเป็นการยอมรับว่าข้อมูลการใช้งานของตนเองจะถูกนำไปใช้ในการโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมาย เสียก่อนจึงจะสามารถเข้าถึงบริการบนแพลฟอร์มได้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมาย GDPR

เมตาระบุว่า การเสนอบริการสมัครสมาชิกประเภทปลอดโฆษณาดังกล่าวนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขข้อวิตกกังวลของหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบ

“เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของยุโรป เราจะเสนอบริการสมัครสมาชิกทางเลือกรูปแบบใหม่ใน EU EEA และสวิตเซอร์แลนด์” เมตาระบุ

“ในเดือนพ.ย. เราจะเสนอให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรมในพื้นที่เหล่านี้เลือกว่าจะใช้บริการแบบมีโฆษณาโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมรายเดือน หรือใช้บริการปลอดโฆษณาที่มีค่าธรรมเนียมรายเดือน โดยข้อมูลของผู้ใช้บริการแบบเสียค่าธรรมเนียรายเดือนจะไม่ถูกนำไปใช้ในด้านการโฆษณา”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,