นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านการเมือง รัฐธรรมนูญ ความเป็นประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทย เปิดเผยรายละเอียดร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .… และ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …. ฉบับของพรรคเพื่อไทย ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในวันที่ 24-25 ก.พ. 65 ว่า พรรคเพื่อไทยได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีเป้าประสงค์ที่จะแก้ไขในส่วนที่บทบัญญัติเดิมมีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ และเพิ่มในส่วนของสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมให้กับประชาชน มุ่งหมายในการคืนประชาธิปไตยให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเท่าที่จะทำได้
สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับของพรรคเพื่อไทย มีดังนี้
1. การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หลักทั่วไป คือนำคะแนนรวมทั้งประเทศ มาหารด้วย 100 คน เมื่อหารแล้วจะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จากนั้นนำคะแนนรวมที่พรรคได้รับ มาหารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนในส่วนนี้ ก็จะได้ว่าพรรคนี้จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนเต็มเท่าไร เบื้องต้นก็จะคิดจากจำนวนเต็ม ส.ส. 100 คนก่อน หากได้ ส.ส.ครบ 100 ก็ถือว่าจบ แต่ถ้าคำนวณออกมาแล้วได้ ส.ส.ไม่ครบ 100 คน
“เช่น คำนวณแต่ละพรรคแล้วได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมา 98 คน ขาดไปอีก 2 คน ก็จะไปคิดเศษจากพรรคการเมืองอื่นๆ เข้าใจง่ายๆ เศษที่เป็นจุดทศนิยม โดยพรรคเพื่อไทยเห็นว่าควรให้สิทธิแก่พรรคการเมืองที่ผลจากการคำนวณครั้งแรกไม่ถึงเกณฑ์ค่าเฉลี่ย เพื่อเปิดโอกาสให้กับพรรคการเมืองต่างๆ โดยหลักการนี้เคยใช้มาแล้วในการเลือกตั้งปี 2554 หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงนั้นเพียงแต่ในเวลานั้นพรรคที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำในรอบแรกจะถูกตัดออกไปเลย”
นายชูศักดิ์ ระบุ
2. การกำหนดให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหมายเลขเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีที่พรรคการเมืองนิยม และประชาชนชื่นชอบ เพราะไม่สร้างความสับสนให้ประชาชนในการเลือกตั้ง แต่ปัญหาใหญ่ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ไม่ได้แก้ไขในมาตราที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ มาตรา 90 ไม่ได้มีการแก้ไข ซึ่งเป็นการกำหนดให้ส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตก่อนผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งมีการตีความกันว่าต้องให้มีการสมัครแบบเขต ก่อนถึงจะสมัครแบบบัญชีรายชื่อ ทำให้มีความกังวลกันอยู่
พรรคเพื่อไทยพิจารณาแล้ว เห็นว่าสามารถทำได้ คือ ให้มีการเปิดรับสมัคร ส.ส.เขต ก่อน แต่ยังจะไม่ได้รับหมายเลข จากนั้นจึงเปิดรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในวันที่สอง ซึ่งจะมีการจับหมายเลขเลยในวันนั้น จะได้หมายเลขของพรรคการเมืองแล้วกำหนดให้การสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จบก่อนการปิดรับสมัคร ส.ส. เขต กำหนดให้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ไม่น้อยกว่าสามวัน
“วิธีการนี้ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะสามารถจดจำเบอร์พรรคและเบอร์ผู้สมัครที่ตัวเองชื่นชอบได้ง่าย”
นายชูศักดิ์ ระบุ
3. อีกทั้งยังได้เสนอให้มีการแก้ไขรายละเอียดในประเด็นอื่นๆ เช่น การเพิ่มกรรมการประจำหน่วยจาก 5 คนเป็น 7 คน เนื่องจากมีการเพิ่มเขตเลือกตั้ง การแบ่งเขตการเลือกตั้ง ที่นอกจากต้องเป็นเขตติดต่อกันแล้ว ต้องให้ประชากรของทุกๆ เขตแตกต่างกันไม่เกิน 10% และแก้ไขเรื่องระยะเวลาต่างๆ เพื่อความสะดวกของพี่น้องประชาชน
ส่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น พรรคเพื่อไทยได้เสนอแก้ไขหลายมาตรา หลังจากได้พิจารณาตั้งแต่มาตราแรกจนมาตราสุดท้ายแล้ว เห็นว่านอกจากมาตราที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ก็ควรเสนอแก้ไขมาตราอื่นๆ เพิ่ม เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองและประชาชนมากขึ้น โดยประเด็นสำคัญที่เสนอให้มีการแก้ไขดังนี้
1. เสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าบำรุงพรรคการเมือง
2. เสนอให้ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเทียบเท่ากับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.
3. เสนอให้แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดกรณีการยินยอมให้บุคคลภายนอกครอบงำ ควบคุมสั่งการทำให้พรรคการเมืองขาดความเป็นอิสระ ที่ถือเป็นความผิดถึงขั้นยุบพรรค เนื่องจากพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า
3.1 อะไรคือการครอบงำ ควบคุม และสั่งการ จะต้องมีความชัดเจน อีกทั้งกฎหมายในข้อนี้ยังเขียนต่อไปด้วยว่า ‘ต้องทำให้พรรคการเมืองนั้นขาดความเป็นอิสระ’ พอเขียนเช่นนี้ก็มีการตีความกันวุ่นวายไปหมด ดังนั้นจะต้องทำความกระจ่างในเรื่องนี้ จึงคิดว่าสังคมการเมืองการขอคำปรึกษาหารือกับบุคคลต่างๆ ควรเป็นเรื่องปกติ
3.2 ยืนยันหลักการว่า การพูดจาทำความเข้าใจให้คำปรึกษา คำแนะนำ แต่พรรคยังเป็นอิสระในการทำหน้าที่หรือตัดสินใจ เรื่องนั้นไม่ควรเป็นการครอบงำ ควบคุม สั่งการ จึงมีการเพิ่มข้อความในบทบัญญัตินี้เป็นวรรคสองว่า “การให้คำปรึกษา การให้คำแนะนำใดๆ ก็ตาม ไม่ถือเป็นการครอบงำ ควบคุม สั่งการ ถ้าการให้คำปรึกษานั้นเป็นเพียงการเสนอแนะ ทำความเข้าใจ โดยที่อำนาจการตัดสินใจยังคงอยู่กับพรรค
3.3 ต้องย้ำว่า ไม่ได้มีการตัดบทบัญญัติเดิมแต่อย่างใด เพียงแต่เพิ่มข้อความให้เกิดความกระจ่าง มีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและให้มีความเป็นธรรมมากที่สุด เพื่อไม่ให้มีการใช้กฎหมายมาตรานี้ ไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
4. สำหรับการจัดทำไพรมารีรับฟังความเห็นประชาชนในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยที่จะจัดทำ เพราะแสดงถึงการมีส่วนร่วมของสมาชิก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการส่งผู้สมัคร แต่ที่ผ่านมา ในการปฏิบัติยังเกิดความขัดแย้งกับความเป็นจริงการให้สมาชิกเพียง 50 คนมาลงคะแนนไม่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นไพรมารี หลักการควรใช้เขตจังหวัดเป็นเขตรับฟังความคิดเห็น เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวและเป็นรูปธรรมว่ามีการไพรมารีรับฟังความเห็นประชาชนอย่างแท้จริง
5. ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำนโยบายต้องแสดงที่มาของรายได้ ความคุ้มค่า ความเสี่ยง เพราะไม่มีผลเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ
6. กำหนดให้การเลิกพรรคการเมือง จะต้องผ่านที่ประชุมใหญ่โดยคะแนนเอกฉันท์ การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นกรณีที่สำคัญจริงๆ ไม่ใช่การเลิกหรือยุบพรรคเป็นประโยชน์หรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่
นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอบทเฉพาะกาลสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป ว่าหากมีการทำตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไว้แล้วให้ทำได้ทุกเขต เมื่อมีการแบ่งเขตใหม่ อาจมีผลทำให้เหลือสมาชิกไม่ถึง 100 คน ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ หากมีเขตใหม่และมีสมาชิกอยู่ในเขตใหม่ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องเลือกตัวแทนขึ้นอีก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 65)
Tags: การเมือง, ชูศักดิ์ ศิรินิล, พรรคเพื่อไทย, ร่างกฎหมาย