เพื่อไทย ห่วงคำนิจฉัยศาลรธน.นำไปสู่ความแตกแยก/มั่นใจไม่กระทบญัตติพรรค

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของ 3 แกนนำผุ้ชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า เรื่องนี้ในนามพรรคเพื่อไทย ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีความละเอียดอ่อนมาก โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคศึกษารายละเอียดในคำวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนที่จะมีท่าทีออกไป

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้ปรึกษากันและเป็นห่วงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับนักเรียน นักศึกษาที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา

“ก็เป็นห่วงอนาคตของเขา เพราะสิ่งที่เขาแถลง คือเขาไม่เห็นด้วย หรือไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล ฉะนั้นประเด็นเหล่านี้จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต เราเองมุ่งหวังว่าความห่วงใยของเรา อยากให้ทุกฝ่ายและทุกคนมาช่วยกันคิด ช่วยกันติดตาม ใช้สติปัญญาช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ สร้างพื้นที่ปลอดภัย เหมือนที่พรรคเพื่อไทยกำลังทำอยู่ในขณะนี้ ที่ได้ส่งญัตติให้สภาฯพิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ตามกระบวนการยุติธรรม น่าจะเป็นทางออกได้”

นพ.ชลน่าน กล่าว

ส่วนกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะกระทบกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยที่ประกาศเป็นสะพานเชื่อมแก้ไขกฎหมายมาตรา 116 และมาตรา 112 ในสภาฯ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่กระทบ เพราะสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอญัตติเข้าสภาฯนั้น มาจากข้อเสนอของกลุ่มพลเมืองเพื่อผู้ต้องขังทางการเมือง ที่มีวัตถุประสงค์ชัดว่าให้ช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองให้ได้รับสิทธิในการประกันตัว ไม่เกี่ยวกับเรื่องล้มล้างสถาบันใด ๆ เลย

ในส่วนนี้มีความชัดเจนว่าเมื่อพรรครับข้อเสนอมาแล้ว และพรรคได้ตั้งกรรมการติดตามเรื่องนี้ สิ่งที่ทำไปแล้วคือการยื่นญัตติด่วนให้สภาฯ ช่วยพิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา โดยจะพิจารณาเรื่องของสิ่งที่เป็นปัญหาต่างๆ เช่น กระบวนการการบังคับใช้กฎหมายว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การให้สิทธิประกันตัวตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ปล่อยตัวชั่วคราว มีเรื่องเดียวคือเกรงว่าจะหลบหนีเท่านั้น ไม่มีประเด็นอื่น แต่ขณะนี้มีเทคโนโลยีใหม่คือกำไล EM ก็ใช้ได้

“ฉะนั้นเรื่องพวกนี้สามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาฯได้ เพื่อมีข้อเสนอให้รัฐบาลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป เพื่อช่วยให้คนรุ่นใหม่ที่ถูกจับก็จะเป็นการยับยั้งไปและอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราไม่ได้บังคับศาล เพราะการวินิจฉัยคำพิพากษาทางคดีเราก้าวล่วงไม่ได้ แต่ก้าวล่วงกระบวนการได้ ไม่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งคนจะยื่นแก้มาตรา 112 การดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องดูองค์รวม ไม่ใช่ดูเฉพาะประเด็น”

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ย. 64)

Tags: , ,