น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ในวันที่สอง โดยได้อภิปรายเรื่องคดีเหมืองทองอัครา ตั้งคำถามถึงกรณีคณะอนุญาโตตุลาการฯ เลื่อนการอ่านคำชี้ขาดคดีเหมืองทองอัคราฯ ออกไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.65 ซึ่งถือเป็นการเลื่อนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งว่า การเลื่อนแต่ละครั้ง ใครเป็นผู้ขอเลื่อน เลื่อนไปเพราะอะไร และใครได้หรือเสียประโยชน์ในครั้งนี้
ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่มีการเลื่อนอ่านคำชี้ขาด หลังจากนั้นไม่นานประเทศไทยจะทยอยคืนสิทธิในการทำเหมือง เพิ่มพื้นที่ในการสำรวจแร่ทองคำ และให้สิทธิอื่นๆ เกือบทุกครั้ง
โดยตั้งแต่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ฐานะบริษัทแม่ของ บมจ. อัครา รีซอร์สเซส ได้มีการฟ้องร้องนั้น รัฐบาลไม่เคยชี้แจงต่อประชาชนว่า บริษัท คิงส์เกตฯ ฟ้องร้องประเทศไทยในประเด็นใดบ้าง และเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าไร จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบ
น.ส.จิราพร ถามย้ำกับพล.อ.ประยุทธ์ว่า รัฐบาลกับบริษัทคิงส์เกตฯ จะขอยกเลิกกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และจะเดินหน้าเจรจากัน หรือจะเลือกที่จะสู้คดีความกันจนถึงที่สุด ถ้าหากประเทศไทยเลือกจะสู้คดี ไทยมีโอกาสแพ้คดีสูงมาก และต้องจ่ายค่าโง่ในรูปแบบเงิน ทองคำ หรือทรัพยากรประเทศ ซึ่งตรงกับแถลงการณ์ของบริษัท คิงส์เกตฯ ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เมื่อ 23 ก.ย. 64 ระบุว่า บริษัท คิงส์เกตมีโอกาสที่จะได้ผลรับที่ประสบความสำเร็จจากคณะอนุญาโตตุลาการ หากการเจรจากับประเทศไทยไม่สามารถสรุปผลสำเร็จได้” ซึ่งจากประโยคนี้บริษัท คิงส์เกตมั่นใจว่า หากมีการตัดสินคดี บริษัทฯ จะชนะคดีอย่างแน่นอน ซึ่งคำถามที่ทุกคนอยากทราบมากที่สุด คือ ใครจะเป็นคนรับผิดชอบระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ หรือประเทศ
น.ส.จิราพร ได้เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่อสภา ถึงกรณีที่มีการเปิดทางให้บริษัท คิงส์เกตฯ นำผงเงินผงทองคำที่ถูกอายัดไว้ออกขาย การให้สิทธิสำรวจแร่เกือบ 400,000 ไร่ การให้สิทธิต่อประทานบัตร 4 แปลง เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ซึ่งถ้าหากไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการประนีประนอมยอมความแล้ว ทำไมการฟ้องร้องจึงยังไม่ยุติ
“เป็นไปได้อย่างไร ที่คดีพิพาทในเหมืองเดิมที่มีพื้นที่เพียง 3 พันกว่าไร่ ยังไม่ยุติ นอกจากได้สิทธิในพื้นที่เดิมคืน ยังได้สิทธิใหม่เพิ่มเติม เท่ากับว่าต้องใช้สมบัติชาติเฉียด 1 ล้านไร่ เพื่อสังเวยค่าโง่ของการใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา มันเป็นไปได้อย่างไร อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามนี้ให้ชัดๆ”
น.ส.จิราพร กล่าว
นอกจากนี้ ถ้ารัฐบาลยังยืนยันว่าการให้สิทธิต่างๆ ที่กล่าวว่าเป็นการให้สิทธิตามกฏหมายปกติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเจรจาประนีประนอมความแล้ว การที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาให้ข่าวว่า การเจรจาประนีประนอมความกับบริษัท คิงส์เกตฯ มีแนวโน้มที่จบลงด้วยดี สรุปแล้ว ไทยให้ข้อเสนออะไรแก่ทางบริษัทฯ ถึงยอมเจรจาด้วย
น.ส.จิราพร ยังได้นำหลักฐานแถลงการณ์ของบริษัท คิงส์เกตฯ ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 64 ระบุว่า “บริษัท คิงส์เกตฯ และรัฐบาลไทย ได้ร่วมกันร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการชะลอคำชี้ขาดไปจนถึง 31 ต.ค. 64 เพื่อขยายเวลาให้ทั้งสองฝ่ายหาข้อยุติ ข้อพิพาทร่วมกัน และบริษัท คิงส์เกตฯ ได้เจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อพิจารณาข้อตกลง ซึ่งต้องทำตามขั้นตอนมีทั้งหมด 11 รายการ” ซึ่งจากข้อความดังกล่าว ถือว่ามีการเจรจายอมความกัน
“พล.อ.ประยุทธ์ คืนเหมืองให้กับต่างชาติ แต่ไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชน หลงมัวเมาในอำนาจ จนบ้านเมืองพังไปข้างหน้า สรุปปิดเหมืองไปแล้ว ประเทศเสียหายไปแล้ว ก็ต้องมาคืนสิทธิให้เขาอยู่ดี กลายเป็นว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องเสียให้กับบริษัทคิงส์เกตจากการประนีประนอมความครั้งนี้ มันอาจมหาศาลมากกว่าเม็ดเงิน หรือทองคำที่ต้องชดใช้ในกรณีแพ้คดีเสียอีก”
น.ส.จิราพร กล่าว
พร้อมระบุว่า ถ้ายิ่งทอดเวลาพิจารณาคดีออกไป บริษัทคิงส์เกตฯ กลับจะยิ่งได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ทั้งการได้สำรวจทอง ได้ประทานบัตรทำเหมืองทอง และได้ขุดทอง แต่ประเทศไทยมีแต่เสียกับเสีย
น.ส.จิราพร กล่าวว่า ศูนย์กลางปัญหา คือ การใช้มาตรา 44 สั่งระงับการทำเหมืองทองอัครา ของบริษัทคิงส์เกต ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อตกลง 11 รายการที่ไทยกับบริษัทคิงส์เกตมีการต่อรองกันอยู่ และถ้าหากพิจารณาจาก พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 45 มาตรา 3 (4) ระบุว่า ถ้าพิสูจน์ได้ว่า อนุญาโตตุลาการออกคำชี้ขาดและตัดสินชี้ขาดในประเด็นเกินกว่าข้อพิพาท ส่วนที่ชี้ขาดเกินมานั้น ไม่สามารถใช้บังคับกับศาลไทยได้ ซึ่งถ้าหากมีการนำข้อตกลง 11 รายการไปใส่ในคำชี้ขาด จะกลายเป็นโมฆะหรือถูกยกเลิกทันที
แต่ถ้ามีการเจรจาประนีประนอมความกันนั้น ทำตามกฏหมายไทยหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ได้และรู้แก่ใจทำไม่ถูกตามกฎหมาย จะเข้าข่ายสมคบคิด ฉ้อฉลร่วมกันทำผิดต่อกฎหมายอีกประเทศหนึ่ง ขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต และเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องถูกตรวจสอบเข้มข้นอย่างถึงที่สุด
“หากการตัดสินมาตรา 44 ว่าผิด จะมีอาฟเตอร์ช็อคต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลทั้งคณะ คือ หากมาตรา 44 ผิดพลาด และรัฐบาลยังพยายามเอาทรัพย์สินและประเทศประกันตัวเองออกจากคดี หากไทยสามารถเจรจาประนีประนอมยอมความโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนกกฎหมาย จะกลายเป็นความผิดพลาดร้ายแรงซ้ำสองสร้างภาระประเทศไม่มีที่สิ้นสุด”
น.ส.จิราพร ยังตั้งข้อสังเกตว่าที่มีการเจรจากัน เพราะไม่อยากให้มีการตัดสินการใช้มาตรา 44 ใช่หรือไม่ ถ้าคณะอนุญาโตตุลาการพิเศษออกคำชี้ขาด จะต้องตัดสินประเด็นข้อพิพาท คือ ตัดสินว่าการใช้มาตรา 44 ขัดต่อความตกลงทาฟต้าหรือไม่ อนุญาโตตุลาการจะต้องชี้สถานะทางกฎหมายของมาตรา 44 และถ้าคณะอนุญาโตตุลาการชี้ว่าไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย จะกลายเป็นสึนามิที่สะเทือนถึงคนออกและร่วมออกมาตรา 44 ทั้งหมด ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐประหาร ซึ่งอาจต้องไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ
“พรรคเพื่อไทย จะแสวงหาข้อเท็จจริงจากทุกช่องทาง และจะติดตามจนถึงที่สุด นำข้อมูลมาตีแผ่ให้ประชาชนได้รับทราบถึงเบื้องหลังของคดีนี้ และถ้าพบว่าการเจรจาประนีประนอมยอมความ และข้อตกลงต่างๆ มีพฤติกรรมที่ไม่สุจริต ข้อแนะนำเดียวที่อยากจะฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ ในวันนี้คือ ขอให้เตรียมทีมทนายความทั้งในและต่างประเทศไว้ให้ดีๆ”
น.ส.จิราพร ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 65)
Tags: การเมือง, คิงส์เกต, คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด, จิราพร สินธุไพร, ประชุมสภา, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พรรคเพื่อไทย, เหมืองอัครา