เพื่อไทยเตรียมเชิญแกนนำ รทสช.ถกร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ

ภูมิธรรม เวชยชัย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตนยังไม่ได้ยินหรือได้รับการประสานอย่างเป็นทางการกรณีมีข่าวพรรคการเมืองที่จะมาร่วมรัฐบาลกับ พท.ยื่นเงื่อนไขต้องไม่ห้ามนั่งรัฐมนตรีกระทรวงเดิม ไม่เช่นนั้นจะขอเปลี่ยนตัวแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี เพราะเท่าที่ได้คุยกับหัวหน้าพรรคที่จะมาร่วมงานกับ พท.ไม่ได้มีปัญหารุนแรงในเรื่องนี้ หลังนายเศษฐา ทวีสิน แคนดิเดทนายกฯ ออกมาพูดในประเด็นดังกล่าว ซึ่งความจริงมาจากคำถามของสื่อว่าหลักการไม่ควรให้นั่งกระทรวงเดิมหรือไม่ ซึ่งนายเศรษฐาพูดเพียงว่าหลักการดูดีเห็นชอบ แต่ต้องดูว่าการเชิญพรรคต่างๆ มาร่วมต้องให้เกียรติและดูความเหมาะสม ไม่อยากให้ยึดติด อยากให้ดูนโยบาย คุณสมบัติของคนที่จะมาทำงานเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ ซึ่งเราไม่มีปัญหาอะไร เป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน หน้าที่ของพวกเราต้องประสานงานตั้งรัฐบาลให้ได้

“ประเด็นเหล่านี้ต้องไปดูความเหมาะสม นโยบายตัวบุคคล คิดว่าไม่น่ามีปัญหา เท่าที่คุยกับหัวหน้าพรรคหลักๆ เราพูดเหมือนเดิมว่าอยู่ที่ใครร่วม และส่งสัญญานในการเลือกนายกฯให้เพื่อไทยเป็นแกนนำ มีนายเศรษฐาเป็นนายกฯ หลังจากนั้นมาพูดเรื่องกระทรวงให้สังคมพอใจและสอดรับนโยบายบายแต่ละพรรคน่าจะดีกว่า ขอความกรุณาจากพรรคร่วมให้ช่วยดูตรงนี้ เอาวาระประเทศวาระประชาชนเป็นที่ตั้ง แล้วดูความเหมาะสมจะแบ่งกันทำงานอย่างไร ทุกเรื่องคุยกันได้หากใช้เหตุใช้ผล อยากให้รอเวลาคุยกันอีกนิดเดียว” นายภูมิธรรม กล่าว

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองต่างๆ อยากให้คุยเรื่องการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีก่อนโหวตนายกฯ นั้น เมื่อเรารวมเสียงมาถึงขั้นนี้แล้วไม่มีปัญหา ถึงเวลาที่เหมาะสมจะทำให้มันชัด ต้องชัดเจนก่อนว่ามีคนพร้อมร่วมรัฐบาลเท่าไหร่ แล้วจะจัดการอย่างไร ตอนนี้เรามี 238 เสียง พรรคพลังประชารัฐบอกจะโหวตให้โดยไม่มีเงื่อนไขก็รวมเป็น 278 เราต้องทำให้ได้ 375 เสียง และเท่าที่ฟังพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็พูดทางบวกให้ใช้นโยบายเป็นแกนกลางกำหนดนโบบายทำงาน ดูใครเหมาะสม ใครเป็นหลักเป็นรอง ถ้าคุยด้วยผลประโยชน์ประเทศชาติคุยได้หมด

“ตั้งใจว่าเมื่อเลือกนายกฯแล้ว รัฐบาลจะเดินหน้าทำงานได้ในเดือน ก.ย. คิดว่าจะประเด็นกระทรวงต่างๆ จะเสร็จสิ้นใกล้เคียงกับการโหวตนายกฯ ขอดูเวลาที่เหมาะสม” นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรม ยอมรับว่า กำลังประสานงานไปยัง รทสช. ขณะนี้ทราบแล้วว่า รทสช.มีแนวโน้มเป็นบวก เราคุยกันบ้างแล้วตั้งแต่เชิญมารับฟังแนวทางร่วมรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่ พท. ซึ่งความสัมพันธ์ไม่มีปัญหา รอหัวหน้าและเลขาฯ พรรคเตรียมการให้เรียบร้อยแล้วจะเชิญ รทสช.มาพูดคุยอย่างเป็นทางการ เมื่อได้ความชัดเจนว่าจะร่วมรัฐบาลกันหรือไม่ จะมีการประกาศอย่างชัดเจนอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อยากให้เศรษฐาได้แสดงวิศัยทัศน์นั้นต้องถามไปยังนายเศรษฐา แต่นายเศรษฐาไม่ใช่ สส.การเข้าไปพูดในที่ประชุมรัฐสภาอาจลำบาก และที่ผ่านมาไม่เคยมีการแสดงวิสัยทัศน์ การตรวจสอบผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ถือเป็นเรื่องจำเป็น ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ ขณะที่นายเศรษฐาก็พูดชัดเจนแล้วในประเด็นที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาตั้งคำถาม โดยให้บริษัทที่ถูกตั้งคำถามชี้แจง และนายเศรษฐาก็รักษาสิทธิโดยการฟ้องร้องนายชูวิทย์ไปตามกฎหมาย

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเลี่ยงภาษี แต่เป็นการบริหารจัดการภาษีตามกฎหมาย เป็นหลักการที่มีการสอนกันในมหาวิทยาลัย เมื่อทุกอย่างทำตามกฎหมายก็ไม่ผิดจริยธรรม มั่นใจนายเศรษฐาไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติอย่างแน่นอน” นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลออกมาระบุว่าแกนนำ พท.เดินทางไปพูดคุยด้วยไม่ได้บอกรายละเอียดการเดินหน้าตั้งรัฐบาลว่า ขอยืนยันข้อเท็จจริง การไปพบกับพรรคก้าวไกลวันนั้น ไปในฐานะทีมเจรจา ส่วนที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดทนายกฯ ไปด้วยนั้น เพราะพรรคก้าวไกลเป็นคนร้องขอมา เพื่อจะได้สบายใจกันทุกฝ่าย น.ส.แพทองธารก็เดินทางไป เราไปอย่างเปิดเผยไม่ปิดบังอะไร ส่วนที่มีรายงานข่าวว่าเราไปแจ้งว่าจะเอาสองลุงมาร่วมรัฐบาลนั้นไม่ตรงข้อเท็จจริงอาจจะคลาดเคลื่อน เราบอกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดให้เขาสนับสนุนเราเป็นรัฐบาลได้ เพื่อให้เราทำงานได้ แต่ทางพรรคก้าวไกลอยากให้เรากลับไปเป็น 312 เหมือนเดิม ซึ่งเราบอกไปว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นใหม่จะยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ เราอยากให้ตั้งรัฐบาลให้ได้เพื่อเปิดประตูแก้วิกฤต แต่เขาอยากให้เราเป็นเหมือนเดิมคือ 312 ซึ่งไปไม่ได้ เมื่อไปไม่ได้เราต้องเลือกทางเดินอื่นที่มีไม่กี่ทาง ซึ่งอาจจะขัดใจประชาชนบ้าง แต่พรรคการเมืองที่จะมาร่วมกับเราก็มาจากประชาชน หากพรรคก้าวไกลโหวตให้เราก็ขอบคุณไม่โหวตก็ไม่ว่ากัน หากเขาเป็นฝ่ายค้าน เราเป็นรัฐบาลถ้าทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ สามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ เราพร้อมสนับสนุนนโยบายของเขาที่เป็นประโยชน์ แต่เราจะไม่ยอมเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 และเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ส่วนที่บอกว่าตนไม่ได้ขอขมา ตนยอมรับว่าเคยพูดว่าจะไปขอโทษขอขมา แต่ที่พูดไปเป็นเพียงสร้อย เพราะไม่รู้สึกว่าตนทำผิดอะไร แต่ในการพูดคุยตนได้พูดไปว่า หากมีอะไรไม่สบายใจก็ขอโทษ เรามองเรื่องการร่วมมือเป็นหลักจะสามารถแก้ปัญหาได้ ตนยืนยันแล้วว่าถ้าทำงานใหญ่คิดเรื่องใหญ่ต้องใจใหญ่ คิดเรื่องเล็กทำงานใหญ่ไม่ได้

ขณะที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า กรณีกระแสข่าวพรรคที่จะมาร่วมกับเพื่อไทยต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับกระทรวงก่อนโหวตนายกฯ นั้น พรรคเพื่อไทยมีความเข้าใจ แต่อยากเรียนว่าการตั้งรัฐบาลครั้งนี้เป็นการตั้งรัฐบาลที่พิเศษบนสถานการณ์พิเศษที่ประเทศต้องการออกจากวิกฤตอย่างเร่งด่วน เราจึงต้องการความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในการนำพาประเทศออกจากวิกฤต เราอยากให้การโหวตนายกฯ เป็นไปอย่างเรียบร้อยก่อน เมื่อมีความชัดเจนแล้วจะนำประเด็นของแต่ละพรรคร่วมมาพูดคุยบนโต๊ะเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อนำพาประเทศออกจากวิกฤตครั้งนี้ให้ได้ สำหรับกรณีที่พรรคเก่าจำเป็นต้องคุมกระทรวงเดิมหรือไม่นั้นเป็นเพียงแค่แนวคิด ส่วนการปฎิบัติตนขอยังไม่แสดงความคิดเห็น

สำหรับความคืบหน้าในการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลนั้น ขณะนี้เรามั่นใจว่าเสียงที่จะสนับสนุนแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของ พท.เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาแล้ว และเสียงของ สว.ที่เราได้รับสัญญาณจากหลายๆ ฝ่ายก็เห็นว่าส่วนมากก็ได้แสดงท่าทีที่จะโหวตสนับสนุนแคนดิเดทของพรรค พท. ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราขอขอบคุณ ส่วนการเชิญพรรค 2 ลุงนั้น หากพรรคใดที่จะมาร่วมสนับสนุนแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของ พท. เราก็ไม่ได้ปิดโอกาสเหมือนที่นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พปชร.ให้สัมภาษณ์ว่าจะสนับสนุนแคนดิเดท พท. เรื่องนี้ยังพอมีเวลาอยู่อีกระยะ เพราะนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ก็ยังไม่ได้มีการนัดวันประชุมเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี

สำหรับกระแสข่าวที่บางฝ่ายมองว่าควรดัน น.ส.แพทองธาร แทนนายเศรษฐานั้น จริงๆ เราได้มีการพูดคุยกันแล้วว่าจะเป็นนายเศรษฐา พรรคก็พูดหลายครั้งแล้วว่าเป็นชื่อนายเศรษฐา ฉะนั้นคิดว่าไม่มีการเปลี่ยนอะไรแล้ว ส่วนการเข้าไปแสดงวิสัยทัศน์ต้องดูตามข้อบังคับ การประชุมรัฐสภาหรือเรื่องของการโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอกนั้น ข้อบังคับไม่ได้กำหนดให้ผู้ถูกเสนอชื่อต้องเข้าไปในห้องประชุม ฉะนั้นเรื่องนี้ทางประธานรัฐสภาก็ยังไม่ได้ว่าอะไรเลย เราจะฟังทางประธานรัฐสภาเป็นหลัก แต่หากยึดข้อบังคับเป็นหลักปกติแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น สส. ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในรัฐสภา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ส.ค. 66)

Tags: , , ,