นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีมีรายงานเมื่อวันที่ 22 พ.ค.67 พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่คาดว่าติดเชื้อจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของโคนมในฟาร์มที่รัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นรายที่ 2 ของสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย.67 พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกจากโคนมเป็นรายแรกที่รัฐเท็กซัส
“การแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 แบบนี้ถึงแม้จะพบได้ยาก แต่ถือเป็นกรณีแรกที่มีแนวโน้มว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถแพร่เชื้อไปยังคนได้ จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง” นพ.ธงชัย กล่าว
โดยสถานการณ์ไข้หวัดนกในประเทศไทยพบการระบาดครั้งสุดท้ายในคนเมื่อปี 2547 หลังจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่องทั้งในคน สัตว์ และสัตว์ป่า รวมทั้งติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้จากการประสานงานกับกรมปศุสัตว์ทราบว่า ประเทศไทยไม่มีการนำเข้าโคนมจากสหรัฐฯ จึงประเมินได้ว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนกจากสถานการณ์ดังกล่าวในระดับต่ำ
สำหรับการเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย กรมควบคุมโรคมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการดังนี้ 1) กรมควบคุมโรค มีความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา เพื่อเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคนและสัตว์ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง 2) ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค เพื่อพิจารณามาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3) ประสานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่องความร่วมมือการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) เพื่อหารือและเตรียมความพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำต่อไป
ขณะที่ นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกมานาน แต่ประเทศเพื่อนบ้านยังมีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในคนและสัตว์อย่างต่อเนื่อง กรมควบคุมโรคจึงขอแนะนำให้ประชาชนมีการป้องกันตนเอง ดังนี้ 1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย 2) ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาดโดยเฉพาะหลังสัมผัสกับสัตว์ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก ขณะใกล้ชิดกับสัตว์ 3) หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ใกล้บ้านทันที และสังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิด 4) ห้ามนำสัตว์ปีกป่วยตายมาปรุงอาหารเด็ดขาด 5) การรับประทานเนื้อสัตว์ปีกและไข่ต้องปรุงสุกสะอาด 6) หากมีอาการคล้ายไข้หวัด ได้แก่ ไข้ ไอ มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย หรือมีตาแดงอักเสบ หลังสัมผัสกับสัตว์หรือสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมกับแจ้งประวัติการสัมผัสสัตว์ให้แพทย์ทราบ โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 67)
Tags: ธงชัย กีรติหัตถยากร, ไข้หวัดนก