กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รายงานผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 19 – 25 กรกฎาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 851,933 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 248 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 204 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 43 ข้อความ และผ่านช่องทาง Facebook จำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 209 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 102 เรื่อง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดดีอี ในฐานะโฆษกกระทรวงฯกล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้น ๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความมั่นคง ซึ่งเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน รองลงมาเป็นข่าวการติดต่อทำธุรกรรมกับหน่วยงานรัฐ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ
อันดับที่ 1 : เรื่อง ดื่มน้ำเปล่า 1-2 แก้ว เป็นตัวช่วยลดการเกิดอาการหัวใจล้มเหลว
อันดับที่ 2 : เรื่อง รัฐบาลเตรียมแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพิ่มคนละ 3,000 บาท วันที่ 20 ก.ค. 67 โดยไม่ต้องลงทะเบียน
อันดับที่ 3 : เรื่อง การบินไทย มีตั๋วเที่ยวบินราคาถูกสำหรับผู้สูงอายุ
อันดับที่ 4 : เรื่อง โรคงูสวัดหากขึ้นวนรอบตัวจะทำให้เสียชีวิ
อันดับที่ 5 : เรื่อง ประเทศลาวสั่งห้ามใช้เงินบาทและสินค้าจากไทย
อันดับที่ 6 : เรื่อง การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อการเป็นภาคีอนุสัญญา
อันดับที่ 7 : เรื่อง ปตท. เปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์เติมน้ำมัน 200 บาท ฟรี 200 บาท ผ่านเว็บไซต์ www.ptt-th.com
อันดับที่ 8 : เรื่อง วิธีตรวจระดับความเสื่อมของสมอง ด้วยการกดและขยับเคลื่อนไหวนิ้ว
อันดับที่ 9 : เรื่อง กองทะเบียนจัดหางานถูกกฎหมาย กรมการจัดหางาน รับสมัครนักเรียน นักศึกษา หารายได้เสริมผ่านมือถื
อันดับที่ 10 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำ TikTok มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์งานหารายได้เสริม
เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับ ข้างต้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอันดับ 1 ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน เป็นการสร้างความเชื่อ ความเข้าใจที่ผิด โดยข้อมูลจากสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า การดื่มน้ำไม่สามารถช่วยลดการเกิดหัวใจล้มเหลวได้ และในบางบุคคลอาจต้องจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่มต่อวันในช่วงที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งหากหลงเชื่อโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง อาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งในส่วนตัวบุคคล หรือหากมีการแชร์ เผยแพร่ ต่อๆกันไป อาจกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้างได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 67)
Tags: ข่าวปลอม, มิจฉาชีพ, เตือนภัย