กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รายงานผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 3 เมษายน 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 837,077 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 599 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 584 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 11 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 4 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 174 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 82 เรื่อง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอีกล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้น ๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องของภัยพิบัติ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว และเหตุการณ์ต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เข้าใจผิด สับสน และวิตกกังวลได้ โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก วิตกกังวล เกิดความสับสนในสังคม
อันดับที่ 1 : เรื่อง สัญญาณเตือนสึนามิ! น้ำทะเลภูเก็ตลดฮวบ หลังแผ่นดินไหวเกาะสุมาตรา
อันดับที่ 2 : เรื่อง เตือน! เฝ้าระวังอาจจะเกิดสึนามิ เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว
อันดับที่ 3 : เรื่อง เตือนภัยสมุทรปราการ อาจเกิดสึนามิ
อันดับที่ 4 : เรื่อง อีก 50 ปี รอยเลื่อนสะกายอาจขยับ เสี่ยงแผ่นดินไหวใหญ่ในไทย
อันดับที่ 5 : เรื่อง เลี่ยงใช้เส้นทางสะพานพระราม 9 และสะพานพระราม 3 เนื่องจากสะพานถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว
อันดับที่ 6 : เรื่อง อาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ เอียงและทรุดตัว
อันดับที่ 7 : เรื่อง สะพานพระราม 9 ถล่มแล้วจากเหตุแผ่นดินไหว
อันดับที่ 8 : เรื่อง อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารออมสินเกิดการเอียงทรุดตัว
อันดับที่ 9 : เรื่อง พบเครื่องบินรบ F5E เหนือน่านฟ้า จ.สุรินทร์ มุ่งหน้าไปทางกัมพูชา
อันดับที่ 10 : เรื่อง สั่งคนอพยพจากตึกสูง เพราะแผ่นดินไหว รอบที่ 2
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “สัญญาณเตือนสึนามิ! น้ำทะเลภูเก็ตลดฮวบ หลังแผ่นดินไหวเกาะสุมาตรา” กระทรวงดีอี โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยยังไม่มีรายงานเหตุแผ่นดินไหวใดที่ส่งผลให้เกิดสึนามิ ข่าวดังกล่าวไม่ได้มาจากกรมอุตุนิยมวิทยา และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนข้อมูลนี้ สำหรับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลอาจเกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติอื่น เช่น กระแสน้ำขึ้น-น้ำลง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวหรือสึนามิ
ในส่วนข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง “เตือน! เฝ้าระวังอาจจะเกิดสึนามิ เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว” กระทรวงดีอี โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า หากเกิดแผ่นดินไหวบนบก จะไม่ก่อให้เกิดสึนามิแต่อย่างใด โดยขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากทางราชการ อย่าตื่นตระหนกกับข่าวลือจากแหล่งข่าวที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 68)
Tags: ข่าวปลอม, ดีอี, เฟคนิวส์