เปิดโผ 10 อันดับเครื่องมือ AI สุดฮิตแห่งปี 2566 พร้อมทริคใช้สร้างรายได้

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คือเทรนด์ที่มาแรงเป็นอย่างมากในปี 2566 และมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในหลากหลายรูปแบบ จนหลาย ๆ คนเรียกว่าปี 2566 คือปีแห่ง AI

AI มีความก้าวหน้าไปไกลมาก และเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่กังวลกับความล้ำสมัยของเทคโนโลยีนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม กระแสความกังวลก็ไม่สามารถหยุดยั้งไม่ให้ผู้คนใช้ AI ได้ โดยเฉพาะดาวเด่นที่สุด ซึ่งหนีไม่พ้นแชตจีพีที (ChatGPt) ของบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI)

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานผลการศึกษาล่าสุดจากไรท์เตอร์บัดดี้.เอไอ (Writerbuddy.ai) ซึ่งเป็นบริษัทสร้างคอนเทนต์ออนไลน์ พบว่า ในระหว่างเดือนก.ย. 2565 จนถึงเดือนส.ค. 2566 มีผู้เข้าเว็บไซต์ ChatGPT มากกว่า 14 ล้านครั้ง ส่งผลให้ ChatGPT กลายเป็นเครื่องมือAI ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก

Writerbuddy.ai ได้ทำการวิเคราะห์เครื่องมือ AI มากกว่า 3,000 ชุด โดยใช้ SEMrush ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์เอสอีโอ (SEO) ยอดนิยม เพื่อค้นหาว่าเครื่องมือ AI ใดบ้างที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในปี 2566 และพบว่าเครื่องมือ AI ที่ติด 50 อันดับแรกนั้น มีผู้ใช้งานมากกว่า 2.4 หมื่นล้านคน และผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

สำหรับเครื่องมือ AI ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด 10 อันดับแรก มีดังต่อไปนี้

1. แชตจีพีที (ChatGPT)

หมวดหมู่: แชตบอต AI

จำนวนการเข้าใช้: 1.46 หมื่นล้านครั้ง

2. คาแรคเตอร์.เอไอ (Character.ai)

หมวดหมู่: แชตบอต AI

จำนวนการเข้าใช้: 3.8 พันล้านครั้ง

3. ควิลล์บอต (Quillbot)

หมวดหมู่: เครื่องมือเขียนบทความ

จำนวนการเข้าใช้: 1.1 พันล้านครั้ง

4. มิดเจอร์นีย์ (Midjourney)

หมวดหมู่: เครื่องมือสร้างภาพ

จำนวนการเข้าใช้: 500.4 ล้านครั้ง

5. ฮักกิง เฟซ (Hugging Face)

หมวดหมู่: วิทยาศาสตร์ข้อมูล

จำนวนการเข้าใช้: 316.6 ล้านครั้ง

6. บาร์ด (Bard)

หมวดหมู่: แชตบอต AI

จำนวนการเข้าใช้: 241.6 ล้านครั้ง

7. โนเวลเอไอ (NovelAI)

หมวดหมู่: เครื่องมือเขียนบทความ

จำนวนการเข้าใช้: 238.7 ล้านครั้ง

8. แคปคัต (Capcut)

หมวดหมู่: เครื่องมือสร้างวิดีโอ

จำนวนการเข้าใช้: 203.8 ล้านครั้ง

9. เจนิเตอร์ เอไอ (Janitor AI)

หมวดหมู่: แชตบอตเอไอ

จำนวนการเข้าใช้: 192.4 ล้านครั้ง

10. ซิวิไท (Civitai)

หมวดหมู่: เครื่องมือสร้างภาพ

จำนวนการเข้าใช้: 177.2 ล้านครั้ง

แม้ว่า ChatGPT เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข่าวในแง่ลบในปีนี้ ตั้งแต่เรื่องข่าวการปลดนายแซม อัลท์แมน ออกจากการเป็นซีอีโอของบริษัท ซึ่งสั่นสะเทือนวงการเทคโนโลยี ไปจนถึงความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนา AI ที่อาจเป็นอันตราย แต่ผู้คนก็ยังคงใช้งาน ChatGPT ต่อไป โดย ChatGPT เป็นแชตบอตที่ทำงานได้หลากหลาย สามารถใช้ช่วยงานต่าง ๆ ได้ เช่น การวางแผนกำหนดการรายสัปดาห์ หรือการสร้างเรซูเม่ที่มีข้อมูลละเอียดครบถ้วน

ด้านเครื่องมือ AI อื่น ๆ เช่น Bard และ Quillbot ของกูเกิล ก็มีความสามารถที่คล้ายคลึงกับ ChatGPT เช่น การสรุปข้อความและการถอดความ แต่ทั้งสองไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับ ChatGPT นอกจากนี้ เครื่องมืออย่าง Character.ai และ Novel.ai ก็มีการใช้งานอย่างกว้างขวาง จนเหมือนเป็นเพื่อนคู่ใจของผู้คนจำนวนมาก

นางซูซาน กอนซาเลซ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเอไอแอนด์ยู (AIandYou) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ให้ความรู้ด้านทักษะ AI แก่ผู้คนจากชุมชนชายขอบ กล่าวว่า “หากคุณใช้ AI เพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว คุณอาจมองข้ามโอกาสในการสร้างรายได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งงานที่ดีเลิศ หรือไม่มีใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยก็ได้”

นางกอนซาเลซกล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า “ลองนึกภาพว่า สมมุติคุณเป็นฟรีแลนซ์หรือเจ้าของธรุกิจขนาดเล็ก เครื่องมือ AI อาจมีส่วนช่วยอย่างมากในการยกระดับธุรกิจของคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช่วยปรับปรุงการจัดการสินค้าคงคลัง ใช้เพื่อช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า หรือการวิเคราะห์ความฉลาดในการแข่งขัน”

“ธุรกิจขนาดเล็กสามารถใช้เครื่องมือ AI เพื่อกำหนดเป้าหมายทางการตลาดและการโฆษณาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสในการหารายได้ใหม่ ๆ เข้ามา นอกจากนี้ หากคุณกำลังมองหางานเสริม เช่น การสอนพิเศษ เครื่องมือ AI ก็สามารถช่วยคุณได้เช่นกัน” นางกอนซาเลซกล่าว

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า AI กลายเป็นเครื่องมือมีที่มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของเราในปัจจุบันไปแล้ว และถ้าหากใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูกทาง โอกาสในการหารายได้เพิ่ม ก็คงไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ธ.ค. 66)

Tags: , , , ,