พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษกรณีพิเศษและต้องรายงานตัวตามเงื่อนไขกรมคุมประพฤติว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา อธิบดีกรมคุมประพฤติ ได้มอบหมายผู้บริหารของกรมฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 เป็นสำนักงานพื้นที่รับผิดชอบ เดินทางเข้าพบนายทักษิณและผู้อุปการะ ที่บ้านพัก ซ.จรัญสนิทวงศ์ 69 แขวงและเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร พร้อมแจ้งเงื่อนไข ข้อกำหนดการพักโทษเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเจ้าตัวยังต้องรักษาอาการป่วย เพื่อให้เซ็นลงนามว่ารับรายงานตัวแล้ว ถือเป็นหน้าที่ของคุมประพฤติ
นัดรายงานตัวเดือน มี.ค.
สำหรับการนัดหมายรายงานตัวในเดือน มี.ค. หากนายทักษิณยังคงอยู่ระหว่างการพักฟื้นรักษาตัว หรือการตรวจรักษากับแพทย์ ผู้อุปการะต้องแจ้งพนักงานคุมประพฤติเข้าไปรับรายงานตัวที่บ้านพักช่วงวันเวลาใด แต่ถ้ามีอาการดีขึ้นแล้ว ก็สามารถเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่คุมประพฤติด้วยตัวเอง ที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1
เงื่อนไขระหว่างการพักโทษ “5 ให้ 5 ห้าม” ประกอบด้วย
5 ให้ คือ
1. ให้รายงานตัวกับกรมคุมประพฤติภายใน 3 วัน
2. ให้อยู่ในความดูแลของผู้อุปการะ
3. ให้ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบแบบแผน หากฝ่าฝืนหรือมีปัญหาใดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติรายงานให้ผู้คุมประพฤติรับทราบ ส่วนการจะผิดเงื่อนไขหรือไม่ ผู้คุมประพฤติจะตรวจสอบและวินิจฉัย หากผิดเงื่อนไขก็ต้องส่งตัวกลับเข้าเรือนจำฯ
4. ให้ประกอบอาชีพสุจริต ถ้าเปลี่ยนอาชีพก็ต้องแจ้งผู้คุมประพฤติรับทราบ
5. ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานคุมประพฤติ
5 ห้าม คือ
1. ห้ามออกนอกเขตจังหวัด หากมีกิจธุระจำเป็นต้องแจ้งผู้คุมประพฤติเพื่อขออนุญาต และต้องแจ้งกำหนดเวลาการไป-กลับ อยู่ยาวเป็นเดือนไม่ได้
2. ห้ามประพฤติเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนันหรือดื่มสุราจนมีอาการมึนเมาจนก่อให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะดื่มไวน์หรือไปสังสรรค์เล็กน้อยไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมสามารถทำได้
3. ห้ามเกี่ยวข้องกับสารระเหยหรือยาเสพติด
4. ห้ามไปเยี่ยมผู้ต้องขังอื่นที่ถูกคุมขังภายในเรือนจำ/ทัณฑสถาน
5. ห้ามคบค้าสมาคมกับผู้ที่จะนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำ
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าการไปดำรงตำแหน่งนั่งบอร์ดกรรมการ หรือไปเป็นที่ปรึกษาในทางการเมือง สามารถทำได้ในระหว่างการพักโทษหรือไม่ พ.ต.ท.มนตรี ระบุว่า ต้องดูว่าบอร์ดกรรมการนั้น หรือตำแหน่งที่ปรึกษาในทางการเมือง มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งโดยมีข้อยกเว้นประการใดหรือไม่ เช่น มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดมาดำรงตำแหน่งหรือไม่ เป็นต้น คล้ายลักษณะของกรณีที่บุคคลใดจะไปสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ก็จะมีข้อห้ามกำหนดไว้ว่าต้องไม่เป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาของศาลมาก่อน
ดังนั้น ในระหว่างการพักโทษจึงยังไม่มีการห้ามในเรื่องของงานทางการเมือง เพราะอย่างไรแล้วผู้ได้รับการพักโทษ เมื่อพ้นโทษก็จะได้ใช้ชีวิตปกติและมีสิทธิในฐานะคนไทยตามรัฐธรรมนูญ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 67)
Tags: กรมคุมประพฤติ, ทักษิณ ชินวัตร, พักโทษ