นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้วางระบบหลักประกันทางธุรกิจในประเทศไทยให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยกำหนดกระบวนการและกลไกในการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 และได้เริ่มนำระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (e-Secured) มาใช้ตั้งแต่ปี 2559 รองรับการจดทะเบียนตั้งแต่วันแรกที่กฎหมายเริ่มมีผลบังคับใช้ (วันที่ 2 กรกฎาคม 2559) โดยรับจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ แก้ไขรายการจดทะเบียน การยกเลิกการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันการเงินหรือผู้รับหลักประกันอื่นสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้แบบ Real Time ทำให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว รองรับการทำธุรกรรมของผู้เกี่ยวข้องได้ทันที
ล่าสุด กรมฯ ได้พัฒนาระบบจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Secured) ขึ้นใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่ดียิ่งขึ้นและเป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากที่สุด เน้นให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ทันที โดยข้อมูลมีความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ที่สำคัญ ระบบใช้งานง่ายมากขึ้น สะดวก รวดเร็ว ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้ภาคธุรกิจและประชาชน เป็นการให้บริการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ที่ครบวงจร ทั้งการขึ้นทะเบียนและการยืนยันตัวตนผู้รับหลักประกัน การจดทะเบียนฯ การตรวจค้นข้อมูลสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ การขอรับใบอนุญาตและการตรวจดูรายชื่อผู้บังคับหลักประกัน การแสดงสถิติทางทะเบียนได้พัฒนาใหม่ในรูปแบบ Dashboard ที่ทันสมัยและอัพเดทข้อมูลตลอดเวลา ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำข้อมูลหรือสถิติไปประกอบการตัดสินใจดำเนินธุรกรรมได้ทันที ทั้งนี้ ระบบการจดทะเบียนฯ ที่พัฒนาขึ้นใหม่เป็นคลังข้อมูลการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจที่มีความทันสมัย ครบถ้วน และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป ผ่านทาง www.dbd.go.th >> บริการออนไลน์ >> การจดทะเบียนธุรกิจ >> จดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (e-Secured)
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรมฯ ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงข้อมูลการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจโดยระบบสามารถตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์มีทะเบียน เพื่อลดความผิดพลาดการจดทะเบียนฯ และส่งข้อมูลไปยังหน่วยจดทะเบียนสิทธิ ได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา (ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า) กรมเจ้าท่า (เรือ) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (เครื่องจักร) และกรมการขนส่งทางบก (รถยนต์) ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน สถาบันการเงินและประชาชนสามารถตรวจสอบสถานะของหลักประกัน และตรวจสอบบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่มีทะเบียน สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ตลอดจนได้เพิ่มประสิทธิภาพระบบให้สามารถแจ้งความยินยอมและแจ้งเตือนการเป็นผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันการแอบอ้างและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้บังคับหลักประกันอีกด้วย
ปัจจุบัน (วันที่ 27 ธันวาคม 2566) มีคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจจำนวนทั้งสิ้น 815,227 คำขอ ทรัพย์สินรวมที่ใช้เป็นหลักประกันจำนวน 16,592,608 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด ร้อยละ 80.04 (มูลค่า 13,279,989 ล้านบาท) รองลงมา สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน สัตว์พาหนะ ร้อยละ 19.94 (มูลค่า 3,308,608 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา ร้อยละ 0.01 (มูลค่า 1,991 ล้านบาท) กิจการ ร้อยละ 0.01 (มูลค่า 1,481 ล้านบาท) อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ร้อยละ 0.002 (มูลค่า 398 ล้านบาท)
ขณะที่ ไม้ยืนต้นที่มีค่าก็ได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินและธุรกิจพิโกไฟแนนซ์รับเป็นหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 154,064 ต้น มูลค่าสินเชื่อรวมกว่า 141 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ จำนวน 129,988 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 6,293,891.92 บาท ต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจส่วนใหญ่ ได้แก่ ต้นสัก ต้นขนุน ยางพารา ต้นยูคาลิปตัส ไม้สกุลทุเรียน ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลยาง เป็นต้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1,076 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 6,236,034.02 บาท และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 23,000 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 128,000,000.00 บาท
กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี) และประชาชน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น ได้แก่ 1) กิจการ เช่น กิจการร้านกาแฟ ร้านอาหารเคลื่อนที่ (ฟู้ดทรัค) 2) สิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝาก สิทธิการเช่า ลูกหนี้การค้า 3) สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง เครื่องจักร รถยนต์ 4) อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร/หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม 5) ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และ 6) ทรัพย์สินอื่น ซึ่งขณะนี้ คือ ไม้ยืนต้นที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจยังสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นต่อยอดทางธุรกิจหรือผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 5048 e-Mail : [email protected] สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 66)
Tags: e-Secured, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, อรมน ทรัพย์ทวีธรรม