นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คนใหม่ เปิดวิสัยทัศน์ในการกำกับกิจการพลังงานในยุคการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน (Energy Transition) เป็นผลมาจากความต้องการการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน เพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาด รับมือกับภาวะโลกร้อนที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงรวดเร็ว ภายใต้ยุทธศาสตร์ Trusted OERC 4 ด้าน ได้แก่
1. Trusted Regulation สร้างความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน ด้วยการประสานความร่วมมือกับภาคนโยบายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ด้วยการวางบทบาทสำนักงาน กกพ. เป็นองค์กรกำกับดูแลกิจการพลังงานภายใต้นโยบาย พร้อมกับจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ และยกระดับการกำกับดูแลตามภารกิจให้ครบถ้วนและเกิดความยั่งยืน
2. Trusted Research & Innovation ทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ขยายเครือข่ายและแลกเปลี่ยนวิธีการและแนวทางการกำกับกิจการพลังงาน กับองค์กรกำกับดูแลด้านพลังงานในต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยร่วมกันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหล่อหลอมเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่เหมาะสมต่อการกำกับกิจการพลังงานของไทย
3. Trusted Management มุ่งพัฒนาการบริหารองค์กรให้สามารถกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ควบคู่กับการยกระดับพัฒนาขีดความสามารถบุคลาก รให้ตอบสนองต่อการรองรับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย และสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งอนาคตที่มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลตอบโจทย์ในทุกภารกิจของสังคม ทั้งในวันนี้และวันหน้า
4. Trusted Engagement สร้างการมีส่วนในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน และพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจต่อพื้นที่ชุมชนอย่างยั่งยืน สื่อสารประชาสัมพันธ์การกำกับกิจการพลังงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อมวลชนครอบคลุมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
“วันนี้ ในโลกกำลังคุยกันอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ Go Green และ Go Digital ภาคธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลงปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน เราต้องเตรียมความพร้อมในโอกาสสำคัญของจุดเปลี่ยนให้กับประเทศ ไม่ปล่อยผ่านโอกาสของภาคอุตสาหกรรมการลงทุน มีพลังงานสีเขียวรองรับความต้องการ ซึ่งพลังงานสีเขียวมีข้อดี แต่ก็มีบางส่วนที่สวนทางเป้าหมายของการบริหารจัดการภาคพลังงาน ที่ต้องการความมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง ที่สำคัญคือ ต้องมีระดับราคาที่รับได้ด้วย สำนักงาน กกพ. ต้องเข้ามาดูแลให้เกิดความราบรื่นในการเปลี่ยนผ่าน” นายพูลพัฒน์ กล่าว
นายพูลพัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของความท้าทายภาคพลังงานไทยในระยะต่อไป คือ การสร้างความสมดุล ความเป็นธรรม และความเท่าเทียมในการแข่งขัน ทั้งในภาคพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมให้ประเทศ และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมภาคเอกชน ให้สามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทิศทางพลังงานสะอาดอย่างมีผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งยังมีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อความมีเสถียรภาพ และความมั่นคงทางด้านพลังงาน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อต้นทุน ระดับราคาพลังงานของประเทศ
นอกจากนี้ ยังมองว่ากลไกและการแข่งขันในภาคพลังงานเป็นสิ่งที่สำคัญ และจะนำมาซึ่งการกระจายผลประโยชน์จากการแข่งขันไปสู่ประชาชนผู้ใช้พลังงานส่วนใหญ่ของประเทศอย่างเป็นธรรม สำนักงาน กกพ. จึงต้องดูแลความเหมาะสมในการบริหารจัดการสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนให้สอดคล้องตามนโยบาย รวมทั้งการเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานตามช่วงเวลาที่เหมาะสมควบคู่กันไปด้วย
นายพูลพัฒน์ กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบยังคงมีความสำคัญอยู่ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ยังเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีความจำเป็นในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ อีกทั้งยังทำหน้าที่ในการรักษาความมีเสถียรภาพ และความมั่นคงในระบบไฟฟ้า แต่การบริหารจัดการได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสัดส่วนปริมาณของพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มมากขึ้น
สำนักงาน กกพ. จึงวางแนวทางในการกำกับดูแลภาคพลังงาน โดยคำนึงถึงทั้งคุณภาพไฟฟ้าที่ดีในระดับราคาที่ยอมรับได้ ควบคู่กับการสร้างการยอมรับในการกำกับกิจการพลังงาน และทำให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน ทั้งภาคเศรษฐกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญสุดคือประชาชนผู้ใช้พลังงานส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สำนักงาน กกพ. เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มิ.ย. 67)
Tags: กกพ., พลังงาน, พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์, ภาวะโลกร้อน