SCB EIC ประเมินธุรกิจเวชศาสตร์ความงาม (Aesthetic & Surgery) ยังเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในระดับโลกและในไทย โดยตลาดเวชศาสตร์ความงามของไทยในปี 64 มีมูลค่าอยู่ที่ราว 5 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราว 10% CAGR ในช่วงปี 65-73 จากเทรนด์ดูแลผิวและความงามของผู้บริโภคยุคใหม่ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ต่างชาติ ด้วยค่าบริการในไทยที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายเมื่อเทียบกับค่าบริการเฉลี่ยของโลก รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของภาครัฐ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านหัตถการและศัลยกรรมความงามอันดับต้นๆของเอเชียแปซิฟิก
โดยการสำรวจผู้บริโภคชาวไทยในด้านเวชศาสตร์ความงาม พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใส่ใจด้านความสวยความงาม โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y ผู้หญิง และ LGBTQIA+ ที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับความสวยความงามมากขึ้นและใช้จ่ายในด้านเวชศาสตร์ความงามสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจเวชศาสตร์ความงามทั้งด้านหัตถการและศัลยกรรมเสริมความงามมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง
ธุรกิจหัตถการเสริมความงาม : เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายฐานผู้ใช้บริการได้มากขึ้นในกลุ่มผู้ชายและ Gen Z โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่จะใช้บริการเพื่อการรักษาและบำรุงผิวมากที่สุดควบคู่กับการใช้บริการหัตถการประเภทอื่น และจะใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาท/ครั้ง ซึ่งผู้บริโภคยังเลือกใช้บริการจากสถานบริการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างคลินิกหัตถการความงาม และโรงพยาบาลเฉพาะทาง โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยทั้งจากสถานบริการและอุปกรณหรือเครื่องมือที่ใช้ให้บริการ
ธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงาม : แม้การทำศัลยกรรมเสริมความงามจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคบางส่วน แต่ผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสนใจเพิ่มขึ้น ประกอบกับโดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะทำศัลยกรรมมากกว่า 1 ประเภท โดยการศัลยกรรมจมูกและดวงตาเป็นที่นิยมสูงสุดทั้งจากผู้ที่ผ่านการทำศัลยกรรมเสริมความงามมาแล้วและผู้ที่สนใจทำศัลยกรรมในระยะข้างหน้า โดยผู้บริโภคจะเลือกใช้บริการศัลยกรรมเสริมความงามจากโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางและคลินิกศัลยกรรมตกแต่งความงามเป็นหลัก เนื่องจากมาตรฐานความปลอดภัยเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุด ขณะที่การทำศัลยกรรมในต่างประเทศก็ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง
แม้หัตถการและศัลยกรรมเสริมความงามจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z ที่ให้ความสำคัญกับการทำหัตถการและศัลยกรรมความงามเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่การเจาะตลาดกลุ่มผู้ใช้บริการใหม่ และยังคงรักษาฐานผู้ใช้บริการรายเดิมให้กลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่องถือเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญของธุรกิจหัตถการและศัลยกรรมเสริมความงาม โดยการกำหนดราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ยังคงเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจหัตถการเสริมความงามในการเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการเดิมกลับมาใช้บริการซ้ำ และการเจาะกลุ่มผู้ใช้บริการใหม่ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมใช้บริการหัตถการเสริมความงามมากกว่า 1 ประเภท และยังมีผู้บริโภคไม่น้อยที่สนใจใช้บริการหัตถการเสริมความงาม อีกทั้งการพัฒนาแพ็กเกจการบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลควบคู่ไปด้วยจะสามารถดึงดูดผู้ใช้บริการได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
การสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการทั้งชื่อเสียงของสถานบริการ ความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ และความปลอดภัยของอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ให้บริการจะสามารถดึงดูดผู้ที่สนใจทำศัลยกรรมได้มากขึ้น โดยเฉพาะการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล ซึ่งนอกจากจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกสถานบริการศัลยกรรมเสริมความงามของผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันจากบริการศัลยกรรมในต่างประเทศที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นผ่านธุรกิจให้คำปรึกษาและบริการศัลยกรรม (เอเจนซี่) อีกด้วย นอกจากนี้การแชร์ประสบการณ์และผลลัพธ์ที่ดีจากผู้ใช้บริการจริงจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถสร้างแรงจูงใจในการทำศัลยกรรมเสริมความงามได้โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่ได้รับอิทธิพลจากการรีวิวหรือโฆษณา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 67)
Tags: GEN Y, GEN Z, SCB EIC, ธุรกิจเสริมความงาม, ศัลยกรรมความงาม