น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โดยผลักดันพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 66 ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการติดตามผลการปราบปรามหลังจากมีกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นอย่างใกล้ชิด
โดยศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รายงานข้อมูลสถิติการแจ้งความคดีออนไลน์ พบว่าตั้งแต่ 1 มี.ค. 65 -24 เม.ย. 66 มีคดีออนไลน์ 244,734 คดี ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลเป็นรายเดือนได้เห็นแนวโน้มจำนวนคดีออนไลน์ที่ลดลงจากประมาณ 27,000 คดีต่อเดือนในเดือน ธ.ค. 65 เป็น 24,000 คดี 21,000 คดี และ 20,000คดี ในเดือน ม.ค. -มี.ค. 66 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม แม้จากข้อมูลรายเดือนจะเห็นแนวโน้มคดีออนไลน์ที่ลดลง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่นิ่งนอนใจ เนื่องจากยังพบกรณีการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการขายสินค้า/บริการทางออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์ หลอกให้ทำธุรกรรมต่างๆ ดังนั้นพร้อมกับการเร่งปราบปรามผู้กระทำผิดโดยเจ้าหน้าที่นี้ จึงขอย้ำเตือนประชาชนให้ยังคงระมัดระวังตนเอง ดูแลสอดส่องคนในครอบครัวไม่หลงเชื่อบุคคลแปลกหน้าที่ติดต่อมาทุกช่องทาง โดยเฉพาะหากมีกรณีที่เกี่ยวข้องกับการให้ทำธุรกรรม ให้โอนเงิน ชำระเงินค่าสินค้า/บริการ ให้ตั้งข้อสงสัยก่อนว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ และให้ตรวจสอบโดยละเอียดก่อนทำธุรกรรม
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า มิจฉาชีพได้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ใช้ในการหลอกลวงไปตามสถานการณ์ ล่าสุดกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แจ้งเตือนว่าได้มีกรณีมิจฉาชีพอาศัยช่วงที่ประชาชนให้ความสนใจติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า หลอกลวงขายแผงโซล่าเซลล์ โดยใช้บัญชีเฟซบุ๊กปลอมแฝงตัวเข้ามาในกลุ่มต่างๆ ที่มีการซื้อขายโซล่าเซลล์และอุปกรณ์ติดตั้งแล้วโพสต์ขายสินค้าในราคาถูกกว่าท้องตลาด ด้วยภาพที่คัดลอกมาจากช่องทางที่มีการซื้อขายจริง และมีการเร่งรัดให้รีบตัดสินใจว่าสินค้าใกล้จะหมด ซึ่งปรากฏว่ามีผู้หลงเชื่อแล้วโอนเงินให้ แต่ไม่ได้รับสินค้าจำนวนมาก
โดย บช.สอท. ได้มีข้อแนะนำจุดสังเกตเพื่อการซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ที่ปลอดภัยว่า ให้หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัทหรือตัวแทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ ระวังการซื้อสินค้าราคาถูกกว่าปกติของท้องตลาด ตรวจสอบบัญชีโซเชียลมีเดียของผู้ประกาศขายสินค้า มีความเคลื่อนไหวหรือไม่ ประวัติเป็นอย่างไร ตรวจสอบความมีอยู่จริงของสินค้า โดยขอดูภาพหลายๆ มุมนอกจากภาพที่ประกาศขาย สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ผลิตจากที่ใด เงื่อนไขการรับประกัน วิธีการใช้งาน ตรวจสอบการรีวิวสินค้า และต้องระวังการรีวิวปลอม เป็นผู้รีวิวจริงหรือหรือบัญชีอวตาร และก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, https://www.blacklistseller.com หรือ https://www.chaladohn.com เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 66)
Tags: มิจฉาชีพ, แผงโซลาร์เซลล์, ไตรศุลี ไตรสรณกุล