นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)
โดยระบุว่า ได้ให้ รฟม. และ BEM ผู้รับสัมปทาน เร่งรัดการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออกได้ก่อนภายในต้นปี 2571 และเร่งเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทาง ทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตกให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดในเดือนพฤศจิกายน 2573 ต่อไป โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี นับจากวันเริ่มงาน
นายสุริยะ กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายเดียวในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของโครงการ และจะมีการจ้างงานจำนวนมากที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ รฟม.พร้อมจะออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ภายในเดือน ก.ค.นี้
“พูดกับ BEM แล้ว เรื่องพัฒนาสายสีส้มฝั่งตะวันออก จะเปิดใช้ต้นปี 71 แต่ขอให้เร็วขึ้นเป็นสิ้นปี 70 และเมื่อเซ็นสัญญาแล้ว โครงการนี้จะจ้างงาน 30,000 คน และใช้วัสดุภายในประเทศ ในส่วนงานโยธาใช้เงินมากกว่า 8 หมื่นกว่าล้านบาท ช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น น่าจะช่วยเพิ่ม GDP ประมาณ 0.1%” นายสุริยะ กล่าว
พร้อมระบุว่า จากผลการศึกษาคาดการณ์ว่า ในปีแรกของการเปิดให้บริการฝั่งตะวันออกในปี 2571 นั้น จะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 150,000 เที่ยวต่อวัน และเมื่อเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก จะมีผู้โดยสารประมาณ 400,000 เที่ยวต่อวัน
สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า เดิมค่าโดยสารของเส้นทางนี้ อยู่ที่ 20-65 บาท/เที่ยว แต่จากที่ รฟม. เจรจากับ BEM แล้ว BEM จะใช้อัตราค่าโดยสารที่ 17-42 บาท/เที่ยว จากนั้นจะปรับขึ้นค่าโดยสารทุก 2 ปีตามดัชนีเงินเฟ้อ เหมือนสัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ยืนยันว่า จะดำเนินการให้รถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าร่วมมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดสายตามนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งดำเนินการ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนก.ค.นี้ จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ จะใช้กลไกจัดตั้งกองทุนที่จะเข้ามาชดเชยรายได้ค่าโดยสาร โดยจะดึงเงินมาจากงบประมาณของ รฟม. และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ นายสุริยะ กล่าวว่า เส้นถัดไปจะมีรถไฟฟ้าสายสีเทา ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแนวคิดจะโอนมาให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินโครงการ
ด้านนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการ BEM กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ จะช่วยให้เชื่อมต่อโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนได้ครบวงจร บรรเทาความเดือดร้อนในการเดินทาง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายรัฐบาล
ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวล่าช้ากว่า 3 ปี แต่ด้วยศักยภาพความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการก่อสร้าง และบริหารโครงการรถไฟฟ้าของบริษัทฯ จึงมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการให้สำเร็จลุลวงตามเป้าหมาย และเปิดให้บริการประชาชนอย่างเร็วที่สุด
นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร BEM กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะสั่งซื้อรถไฟฟ้าสำหรับรองรับโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ภายในปีนี้ จำนวน 30 กว่าขบวน ส่วนงานโยธาฝั่งตะวันออกที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว มีค่าบำรุงรักษาเดือนละประมาณ 41 ล้านบาทนั้น BEM คาดว่าจะรับมอบพื้นที่ในส่วนนี้เดือนเมษายน 2569
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 67)
Tags: BEM, รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้าสายสีส้ม, รฟม., สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ