หลังจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ได้เปิดทดลองเดินรถเสมือนจริงมากว่า 1 เดือน และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 โดยคิดอัตราค่าโดยสารลด 15% เริ่มต้นที่ 13 บาท สูงสุด 38 บาท (ในระหว่างดำเนินการแก้ไขรางจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหาย) ในช่วงสถานีชลประทาน (PK05) ถึง สถานีมีนบุรี (PK30)
และยังคงยกเว้นค่าโดยสาร ช่วงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึง สถานีสามัคคี (PK04)
สำหรับผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ด้วยบัตร 3 ประเภท คือ บัตรโดยสารเที่ยวเดียว, บัตรแรบบิท และบัตร EMV ที่ใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้า โดยบัตร EMV จะได้รับส่วนลดค่าแรกเข้า 13 – 14 บาท ในการเดินทางเปลี่ยนถ่ายระบบรถไฟฟ้าระหว่าง รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู คาดว่า รถไฟฟ้าเส้นทางนี้ จะช่วยลดเวลาการเดินทาง ในชั่วโมงเร่งด่วนให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี เพราะเส้นทางช่วงแคราย – มีนบุรี ถือเป็นจุดที่มีปริมาณการจราจรที่หนาแน่น
นอกจากนี้ นายคีรี และคณะผู้บริหาร ได้ย้ำถึงมาตรการความปลอดภัย โดยเฉพาะล้อประคองของขบวนรถ เพื่อยืนยันความพร้อม และความปลอดภัย ก่อนที่จะออกให้บริการกับประชาชนในทุกวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมากที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 67)
Tags: ค่าโดยสาร, รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้ามหานคร, รถไฟฟ้าสายสีชมพู, อัตราค่าโดยสาร