เจ้าหนี้เลื่อนโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ ACAP ไปเป็น 27 พ.ย. หลังถกเครียดรายย่อยค้านแผนไม่ชัด

วานนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ได้นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ ACAP ฟื้นฟูกิจการ โดยมี ACAP เป็นผู้ทำแผน ส่อถึงความฉ้อฉล ไม่โปร่งใส โดยมีเจ้าหนี้ที่เป็นนักลงทุนรายย่อยผู้ถือหุ้นกู้ ACAP กว่า 100 รายเข้าร่วมประชุม

นายนครินทร์ วงแหวน ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้นกู้ ACAP กล่าวว่า ที่ประชุมได้เลื่อนโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ ACAP ออกไปเป็นวันที่ 27 พ.ย. 2567 ถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกที่บริษัทยอมรับฟังเสียงจากนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้ทำแผนเสนอยังมีความไม่ชัดเจน และไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้เจ้าหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้รายย่อย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

“วันนี้ถือเป็นก้าวแรกที่บริษัทและเจ้าหนี้ยอมรับฟังนักลงทุนรายย่อย และเลื่อนแผนฟื้นฟูกิจการออกไป จากการที่ผู้ลงทุนผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยไปร้องที่ผู้บัญชาการสอบสวนกลางให้สอบสวนหาข้อเท็จจริงในความฉ้อฉลของผู้บริหารในอดีตและปัจจุบัน ไม่โปร่งใส เอื้อพวกพ้อง แต่เราอยากได้ความจริงใจมากกว่านี้ และความตั้งใจของผู้ทำแผนและที่ปรึกษา ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ควรดำเนินการอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมในการจ่ายคืนหนี้ให้กับนักลงทุนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

อยากได้ความเห็นใจ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่ตั้งใจซื้อหุ้นกู้ของบริษัทตั้งแต่แรก เพราะเชื่อมั่นกับหุ้นตัวนี้ แต่สิ่งที่เราได้ยินจากอดีตผู้บริหาร ACAP (นางสาวณิชารดี สุขเจริญไกรศรี) คือการลงทุนมีความเสี่ยง ได้ยินคำนี้แล้วรู้สึกสะเทือนใจ และฝากให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลนักลงทุนรายย่อยให้ได้รับความเป็นธรรม” นายนครินทร์กล่าว

สำหรับการประชุมพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ACAP เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 ที่ประชุมยังไม่ได้มีการโหวตรับแผนของผู้ทำแผน แต่มีการนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 27 พ.ย.2567 ขณะเดียวกันได้มีการเสนอให้ปรับปรุงแผนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุนรายย่อยมากขึ้น ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้ โดยมียอดหนี้เงินต้นคงค้างจำนวน 2,037,648,002.04 บาท หนี้ดอกเบี้ยคงค้าง 1,116,226,293.85 บาท และหนี้ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน 839,788.74 บาท รวมกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งในแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้บริษัทชำระหนี้เงินต้นให้กับเจ้าหนี้ ภายในระยะเวลา 8 ปี

ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูกิจการ ACAP มีความเห็นจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ บล.พาย ควรใช้ข้อมูลงบการเงินในการพิจารณาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่รับรองความถูกต้องของรายละเอียดที่ปรากฎในงบการเงิน ทั้งเรื่องเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทอื่นที่ผิดนัดชำระหนี้ที่มีสิทธิการเช่าเป็นหลักประกัน ซึ่งสิทธิการเช่าอยู่ในพื้นที่ที่มีข้อพิพาท และยังไม่ได้รับข้อมูลการประเมินมูลค่า รวมทั้งบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าทรัพย์สินหมุนเวียน มีปัญหาสภาพคล่องและการผิดนัดชำระหนี้ เป็นจำนวนเงินกว่า 4,344,497,161.83 บาท

นายนครินทร์ กล่าววา ในแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทจะปรับโครงสร้างทุน โดยในระหว่างระยะเวลาดำเนินการตามแผน ผู้บริหารแผนจะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท 300 ล้านบาท ในปี 2570 โดยเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและ/หรือนักลงทุนรายใหม่ คือ บริษัท Echelon Capital Holdings Limited จากประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งมีข้อมูลว่าทางบริษัทได้มีการทำสัญญาเก็บรักษาความลับไว้กับทาง Echelon Capital Holdings Limited เกี่ยวกับสัญญาการร่วมทุน ส่งผลให้ไม่สามารถทราบถึงรายละเอียดของสัญญาได้ แต่จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าไม่ปรากฏข้อมูลบริษัทในฐานข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 67)

Tags: , , ,