เงินเฟ้อโตเกียวเพิ่ม 2.5% ในเดือนก.พ. ตลาดคาดอาจถึงเวลา BOJ ขึ้นดอกเบี้ย

สำนักงานสถิติแห่งชาติญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (5 มี.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของกรุงโตเกียว ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนก.พ. หลังจากอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือนในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป และทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ของกรุงโตเกียว ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด เพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 1.6% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือน

ส่วนดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ของกรุงโตเกียว เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.6% ในเดือนม.ค. ขณะที่โดยราคาอาหารยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น

ขณะเดียวกัน ดัชนี Core-Core CPI ของกรุงโตเกียว ซึ่งไม่รวมราคาเชื้อเพลิงและราคาอาหารสด ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่สำคัญของ BOJ ลดลงจากระดับ 3.3% ในเดือนม.ค. สู่ระดับ 3.1% เดือนก.พ. แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2%

เว็บไซต์อินเวสติง.คอมรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อของกรุงโตเกียวมักถูกมองว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อโดยรวมของญี่ปุ่น โดยตัวเลขในเดือนก.พ.ชี้ให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วประเทศกำลังเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางการคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นว่า BOJ อาจยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบอย่างเร็วที่สุดในเดือนเม.ย.

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อาจผลักดันให้ BOJ ยกเลิกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ แม้ BOJ ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใด ๆ จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 มี.ค. 67)

Tags: , , , ,