เงินเฟ้อเยอรมนีแตะระดับ 2.7% ในเดือนก.พ. ชะลอตัวจากเดือนก่อนตามคาด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวานนี้ (29 ก.พ.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนีที่ปรับตามมาตรฐานสหภาพยุโรปแล้ว (HICP) อยู่ที่ระดับ 2.7% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากราคาพลังงานถูกลง

ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปดังกล่าว (Headline inflation) ลดลงจากระดับ 3.1% ของเดือนม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน อยู่ที่ 3.4% เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี

ตัวเลข HICP ที่ลดลงนั้นเป็นไปตามคาด แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังชะลอตัวลงช้า ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลังเลที่จะส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ย

“หากไม่รวมราคาพลังงานและอาหารที่ผันผวน อัตราเงินเฟ้อแทบจะไม่ลดลงเลย” นายยอร์ก เครเมอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของคอมเมิร์ซแบงก์ กล่าว “ยังไม่ถึงเวลาที่ ECB จะลดอัตราดอกเบี้ย”

ราคาพลังงานในเดือนก.พ.ลดลง 2.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ถึงแม้รัฐบาลเยอรมนีจะยกเลิกมาตรการควบคุมราคาและปรับขึ้นราคาคาร์บอนไปแล้วก็ตาม

ขณะเดียวกัน ราคาอาหารในเดือนก.พ.เพิ่มขึ้นเพียง 0.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2564 ที่ราคาอาหารเพิ่มน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยรวม

คริสตีน ฟ็อลค โฆษกธนาคาร KfW กล่าวว่า “ลูกจ้างจะได้อานิสงส์จากเรื่องนี้ผ่านค่าจ้างที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

“นี่เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจที่ซบเซากลับมายืนได้อีกครั้ง” ฟ็อลคกล่าวเสริม โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ลดลงช้า

อนึ่ง สถาบัน GfK และสถาบันนูเรมเบิร์กเพื่อการตัดสินใจด้านตลาด (NIM) เปิดเผยผลสำรวจเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ซึ่งระบุว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเยอรมนีมีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับต่ำในเดือนมี.ค.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มี.ค. 67)

Tags: ,