สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซียเปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (1 เม.ย.) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียปรับตัวสูงขึ้นเกินคาดในเดือนมี.ค. 2567 โดยอยู่ที่ 3.05% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 ท่ามกลางความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน
ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าระดับ 2.75% ในเดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลของรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2.91%
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1.5%-3.5% ที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) กำหนดไว้สำหรับปี 2567 ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางอินโดนีเซียเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบเป้าหมายดังกล่าวตลอดทั้งปี
สำนักงานสถิติฯ ระบุว่า แรงกดดันเงินเฟ้อสะท้อนถึงความต้องการที่แข็งแกร่งในช่วงรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิมกว่า 200 ล้านคนในอินโดนีเซีย โดยเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น 10.33% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าระดับ 8.47% ในเดือนก.พ. โดยสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ข้าว เนื้อวัว และไก่ มีส่วนทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นมากที่สุด
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาสินค้าที่รัฐบาลควบคุมและราคาอาหารที่ผันผวน อยู่ที่ 1.77% ในเดือนมี.ค. สูงกว่าระดับ 1.68% ในเดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1.70%
สำนักงานสถิติฯ ชี้ว่า แม้การเก็บเกี่ยวข้าวในเดือนมี.ค. 2567 จะทำให้สต็อกข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ราคาขายปลีกข้าวยังคงแพงกว่าราคาเฉลี่ยในเดือนมี.ค. 2566 อยู่ราว 20%
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าว รวมถึงยอดเกินดุลการค้าเดือนก.พ.ที่ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน จะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางอินโดนีเซียระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567
ราดิกา เรา นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทดีบีเอส (DBS) ในสิงคโปร์ กล่าวว่า “เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ยอดเกินดุลการค้าที่ลดลง รวมถึงความไม่แน่นอนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้”
อิรมัน ฟาอิซ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารดานามอน (Bank Danamon) ในอินโดนีเซีย คาดการณ์เช่นเดียวกันว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ระยะหนึ่ง โดยระบุว่าการปรับตัวสูงขึ้นของเงินเฟ้อทั่วไปเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น และน่าจะชะลอตัวลงในเดือนเม.ย. อันเนื่องมาจากฤดูเก็บเกี่ยวที่กำลังจะมาถึง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 67)
Tags: อัตราดอกเบี้ย, อินโดนีเซีย, เงินเฟ้อ