สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซียเปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (2 พ.ค.) ว่า เงินเฟ้อของอินโดนีเซียลดลงเล็กน้อยในเดือนเม.ย. เนื่องจากราคาอาหารปรับตัวลดลงในช่วงที่เกษตรกรอินโดนีเซียเมื่อเริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ เงินเฟ้อยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางอินโดนีเซียที่ระดับ 1.5% – 3%
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในเดือนเม.ย. ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์ได้คาดการณ์ไว้ที่ 3.06% และต่ำกว่า CPI ของเดือนมี.ค.ซึ่งอยู่ระดับที่ระดับ 3.05%
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารที่มีความผันผวนและราคาสินค้าที่ควบคุมโดยรัฐบาล เพิ่มขึ้นแตะที่ 1.82% ในเดือนเม.ย. จากระดับ 1.77% ในเดือนมี.ค.
สำนักงานสถิติอินโดนีเซีย ระบุว่า ราคาข้าว, พริก และไข่ ต่างก็ปรับตัวลดลง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เงินเฟ้อของอินโดนีเซียยังคงอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารกลางมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสนับสนุนค่าเงินรูเปียห์ในช่วงที่สถานการณ์ทั่วโลกไม่แน่นอน เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ, สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอล-ฮามาสในฉนวนกาซา
นายมีร์ดัล กุนาร์โต นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเมย์แบงก์ อินโดนีเซีย (Maybank Indonesia) เปิดเผยว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อของอินโดนีเซียมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 67)
Tags: ราคาอาหาร, อินโดนีเซีย, เงินเฟ้อ