สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมี.ค.68 อยู่ที่ระดับ 100.35 หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 0.84% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่ตลาดคาดว่าเงินเฟ้อมี.ค. จะอยู่ที่ 1.00-1.10%
โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป และน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ 1.08% ต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้เล็กน้อย
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนมี.ค.68 สูงขึ้น 0.86% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วงไตรมาสแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 0.89%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เตรียมพิจารณาปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ลงอีกเล็กน้อย จากกรอบเดิมที่วางไว้ 0.3-1.3% ซึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรก ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย นอกจากนี้ ยังมีผลจากนโยบายที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยในอัตราสูงถึง 37%
“จากเงินเฟ้อไตรมาสแรกที่ออกมา 1.08% ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 1.13% รวมทั้งมาตรการภาษีของทรัมป์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทย จึงทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อทั้งปี มีโอกาสจะต่ำกว่าเป้าเดิมที่วางไว้ แต่คงไม่มาก เราขอพิจารณาข้อมูลในรายละเอียดอีกครั้ง คาดกว่าจะแถลงตัวเลขใหม่ในรอบหน้า” ผู้อำนวยการ สนค. ระบุ
อย่างไรก็ดี จากผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้น เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในแต่ละไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จะไม่ลงไปถึงระดับติดลบ ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสแรกเล็กน้อย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 68)
Tags: CPI, กระทรวงพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค, ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป, สนค., เงินเฟ้อ