เงินเฟ้อญี่ปุ่นเดือนก.พ.พุ่ง 2.8% สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ BOJ ติดกัน 23 เดือน

รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (22 มี.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

ทั้งนี้ ดัชนี CPI พื้นฐานอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 23 หลังจากปรับตัวขึ้น 2% ในเดือนม.ค. โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ซึ่งรวมถึงราคาอาหารและสินค้าคงทน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาที่พักอาศัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งขึ้นในภาคการท่องเที่ยว

ส่วนราคาพลังงานปรับตัวลง 1.7% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.ที่ร่วงลง 12.1%

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า BOJ มีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในวัฏจักรเชิงบวกนี้ ซึ่งรวมถึงค่าจ้างที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ คณะกรรมการ BOJ ได้ตัดสินใจยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบและยุติการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนจากเดิมที่เคยใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (ultra-loose monetary policy) เพื่อผลักดันให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด

ทางด้านนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า ในขณะที่ BOJ มีความมั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% นั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในอนาคตจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ แต่นับจนถึงขณะนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นยังไปไม่ถึงระดับที่จะสร้างความมั่นใจให้กับ BOJ จึงทำให้ BOJ เล็งเห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะยังคงใช้นโยบายการเงินในลักษณะผ่อนคลายต่อไปอีกระยะหนึ่ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 67)

Tags: , , ,