กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น (MIC) เปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (27 ก.พ.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันแต่ไม่รวมราคาอาหารสด ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0% ในเดือนม.ค. โดยชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน แต่ยังสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.8% และยังเป็นไปตามเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งผลให้ตลาดคาดหวังว่า BOJ จะตัดสินใจยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบได้ในเดือนเม.ย.
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตัวเลขดังกล่าวตอกย้ำมุมมองที่ว่า เงินเฟ้อที่เป็นผลจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์นั้นปัจจุบันได้แผ่วลงแล้ว และน่าจะบรรเทาภาระจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวเช่นนี้ก็ตอกย้ำความคาดหวังที่ว่า บริษัทขนาดใหญ่จะเสนอปรับขึ้นค่าแรงเป็นจำนวนมากในการเจรจาค่าแรงระหว่างฝ่ายพนักงานและฝ่ายบริหารในวันที่ 13 มี.ค. ซึ่งจะปูทางไปสู่การยกเลิกอัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือนมี.ค. หรือไม่ก็เม.ย.
อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ให้เงินอุดหนุนเพื่อควบคุมราคาน้ำมันและสาธารณูปโภคด้วย ซึ่งส่งสัญญาณว่าแรงกดดันด้านต้นทุนได้ลดลงแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้เข้ามาดันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไว้ที่เป้าหมาย 2% ของ BOJ หรือสูงกว่านั้นมาตั้งแต่เดือนเม.ย. 2565
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.พ. 67)
Tags: ญี่ปุ่น, ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน, เงินเฟ้อ