ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีนพุ่งขึ้นในอัตราสูงสุดเมื่อเทียบเป็นรายปีในรอบกว่า 12 ปีในเดือนพ.ค. โดยถูกผลักดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งได้บ่งชี้ถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อทั่วโลกในช่วงเวลาที่ผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ กำลังพยายามที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19
บรรดานักลงทุนมีความวิตกมากขึ้นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจทำให้เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งขึ้นอย่างมาก และจะทำให้บรรดาธนาคารกลางต่างๆ ทำการคุมเข้มนโยบายการเงิน ซึ่งอาจจะสกัดกั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน พุ่งขึ้น 9% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนพ.ค. หลังขยายตัว 6.8% ในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนเม.ย.
ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของดัชนี PPI ยังไม่ได้ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อจากราคาผู้บริโภคของจีน ซึ่งหมายความว่าธนาคารกลางจีนยังไม่น่าจะกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในขณะนี้ แต่ก็มีสัญญาณบางประการบ่งชี้ว่า บรรดาโรงงานในจีนซึ่งมีอัตรากำไรที่ตึงตัวอยู่แล้ว กำลังผลักภาระต้นทุนด้านวัตถุดิบและชิ้นส่วนประกอบที่สูงขึ้นไปยังลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้วงจรเงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 64)
Tags: PPI, จีน, ดัชนีราคาผู้ผลิต, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจจีน