เงินเฟ้อก.พ. -0.77% ลดต่อเนื่องเดือนที่ 5 แนวโน้ม Q1 ยังติดลบ คาดพลิกบวกพ.ค.

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนก.พ.67 เท่ากับ 107.22 ลดลง 0.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่ตลาดคาดจะลดลง 0.80%

โดยเงินเฟ้อยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สาเหตุสำคัญยังคงเป็นราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์ และผักสด ที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมทั้งราคาน้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 66 จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปี 66

ทั้งนี้ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.67) ลดลง 0.94%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนก.พ.67 เพิ่มขึ้น 0.43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 0.47%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 1/67 ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเม.ย. โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อ กลับมาเป็นบวกได้ในเดือนพ.ค. หลังจากที่มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ จะทยอยสิ้นสุดลงในเดือนเม.ย.

“ไตรมาสแรกปีนี้ เงินเฟ้อคาดว่าจะติดลบ 0.7-0.8% ยังลดลงต่อเนื่องไปถึงเม.ย. และน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนพ.ค. จากเหตุของฐานที่ต่ำในเดือนพ.ค.66 และมาตรการค่าครองชีพจะทยอยสิ้นสุดในเดือนเม.ย. แต่เราก็ยังต้องติดตามว่าจะมีต่อหรือไม่” นายพูนพงษ์ ระบุ

ทั้งนี้ ในเดือนก.พ.67 มีรายการสินค้าและบริการที่ราคาเปลี่ยนแปลงไปจากเดือนก่อนหน้า (ม.ค.67) ดังนี้

– สินค้าและบริการที่ราคาเพิ่มขึ้น 143 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า, ขนมปังปอนด์, ไก่สด, ผักคะน้า, มะนาว, กล้วยหอม, น้ำมันเชื้อเพลิง และสุรา เป็นต้น

– สินค้าและบริการที่ราคาลดลง 107 รายการ เช่น เนื้อสุกร, ไข่ไก่, นมผง, ผักบุ้ง, พริกสด, ผลิตภัณฑ์ซักผ้า เป็นต้น

– สินค้าและบริการที่ราคาคงที่ 180 รายการ เช่น ค่าน้ำประปา, ก๊าซหุงต้ม, ค่าไฟฟ้า, ค่าบริการจอดรถ, หนังสือพิมพ์ เป็นต้น

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยข้อมูลล่าสุดเดือน ม.ค.67 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย ต่ำเป็นอันดับ 4 จาก 135 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่มีการประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย) สอดคล้องกับทิศทางเงินเฟ้อเดือนแรกของปี 67 ที่หลายประเทศมีอัตราชะลอตัวลง

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค.67 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยดังนี้

1. มาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน โดยการตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่ 3.99 บาท/หน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน และที่ 4.18 บาท/หน่วย สำหรับครัวเรือนทั่วไป รวมทั้งมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร จนถึงวันที่ 19 เม.ย.67

2. ฐานราคาที่สูงในปี 2566 ของเนื้อสุกร และผักสด

3. เศรษฐกิจของไทยขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่

1. สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

2. เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีราคาสูงขึ้น

3. สภาพอากาศที่มีความแปรปรวนในช่วงท้ายของปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมทั้งการเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร

4. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุปสงค์และราคาของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ของปี 67 จะอยู่ระหว่าง -0.3 ถึง 1.7% (ค่ากลาง 0.7%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนใหม่อีกครั้ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 มี.ค. 67)

Tags: , , , ,