เงินบาทเปิด 37.06 แนวโน้มยังอ่อนค่า ดอลลาร์แข็งค่ากดดัน-จับตา Flow

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 37.06 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจาก ปิดตลาดเมื่อเย็นวานนี้ที่ระดับ 37.03 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาคและตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าเมื่อ เทียบกับสกุลเงินหลักหลังได้รับปัจจัยหนุนจากยอดสมัครงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีเกินคาด

ขณะที่ปัจจัยในประเทศต้องติดตามดูกระแสเงินทุนต่างประเทศ (Flow) หลังมีแรงเทขายหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติจนส่งผลให้ ดัชนีหุ้นทำนิวโลว์ นอกจากนี้ยังต้องติดตามมาตรการของรัฐบาลที่จะเรียกความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยวที่ได้ โปรโมทออกไปแล้ว แต่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นมา

“บาทยังอยู่ในโซนอ่อนค่า เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก ช่วงนี้คงต้องจับตาดู Flow และมาตรการเรียกความเชื่อ มั่นของรัฐบาล” นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 37.00 – 37.25 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยนอยู่ที่ 149.12 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 149.75/150.00 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ 1.0472 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0475/1.0500 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 37.113 บาท/ดอลลาร์

– สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเริ่มผวาบาทอ่อนเร็ว หลุด 37 บาท/เหรียญ ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย ตลาดซื้อโลกไม่สวยหรู ปีนี้โอกาสหลุด เป้า 8.5 ล้านตัน เหลือ 8 ล้านตัน ปีหน้าไม่แล้งจริง เหลือ 7-7.5 ล้านตัน

– “เศรษฐา” นั่งประธานคณะกรรมการเงินดิจิทัล ประชุมนัดแรกสัปดาห์นี้ เผยแหล่งเงิน 2 แนวทาง ออกกฎหมายกู้เงินหรือ ใช้เงินแบงก์รัฐ ยืนยันเริ่มแจก 1 ก.พ.ปีหน้า “จุลพันธ์” คาดปลายเดือนนี้ได้ข้อสรุป ยืนยันไม่ออก พ.ร.ก.กู้เงินปฏิเสธข่าวขยายเพดาน หนี้ไปที่ 45%

– รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นกล่าวเมื่อวานนี้ว่า รัฐบาลกำลังจับตาตลาดปริวรรตเงินตราอย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการเพื่อรักษา เสถียรภาพในตลาด และการตัดสินใจแทรกแซงตลาดจะขึ้นอยู่กับความผันผวนในตลาด โดยไม่เกี่ยวข้องกับระดับของค่าเงินเยน

– ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (3 ต.ค.) หลังจากข้อมูลแรงงานล่าสุดของสหรัฐทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น

– สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (3 ต.ค) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และอัตราผลตอบ แทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี หลังจากข้อมูลแรงงานล่าสุดของสหรัฐทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น

– สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้นเกือบ 700,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.61 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 8.8 ล้านตำแหน่ง ตัวเลข JOLTS เป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบาย การเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด

– นักวิเคราะห์จากบริษัท Cherry Lane Investments กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่า เฟดอาจจะปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยอีก และตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมปรับตัวเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจและ กลุ่มผู้บริโภค

– หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลข JOLTS นักลงทุนให้น้ำหนัก 34.9% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50- 5.75% ในการประชุมเดือนพ.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 16.4% ในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.ปีนี้

– นักลงทุนยังคงจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด ได้แก่ ตัวเลขจ้างงาน ภาคเอกชนเดือนก.ย.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย.

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 66)

Tags: , ,