เงินบาทเปิด 37.04 อ่อนค่าหลังดัชนี PCE สหรัฐสูงกว่าคาดหนุนดอลลาร์แข็งค่า จับตาส่งออกไทย

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เช้านี้เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 37.04 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่า จากปิดตลาดเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 36.94 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทเช้านี้อ่อนค่า เนื่องจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐประกาศตัวเลขดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.90 – 37.15 บาท/ดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้องติดตาม วันนี้ คือ กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย

ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 159.45 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 156.63 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0712 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0733 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 36.999 บาท/ดอลลาร์

– “เศรษฐา” ปรับ ครม.ใหม่ “พิชัย” รับบทหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเคลื่อน นโยบายการคลังและงบประมาณ เร่งดัน นโยบาย เงินดิจิทัล จัดสรรงบประมาณปี 2568 จับตา “เศรษฐา” แบ่งงานใหม่ให้รองนายกฯ จับตาผลกระทบนโยบายการทูตเศรษฐกิจ เชิงรุก

– “นักเศรษฐศาสตร์” หนุนปรับ ครม.ตั้ง “พิชัย” หัวทีมเศรษฐกิจ มั่นใจเดินหน้าต่อทันที “ซีไอเอ็มบีไทย” แนะงานเร่งด่วน ไตรมาส 2 อัดงบประคองผู้เดือดร้อนจากเศรษฐกิจซบ ก่อนแจกดิจิทัลวอลเล็ต “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้เรียกเชื่อมั่นต่างชาติ “ไพบูลย์” มองเป็นเรื่องดี ชี้โจทย์เศรษฐกิจ หวังเร่งสร้างมูลค่าเพิ่ม บจ.ฟื้นตลาดหุ้นไทย ส.อ.ท.ช็อก “ปานปรีย์” ลาออก กระทบ ทีมเศรษฐกิจ ระยะสั้น

– ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายในต้นเดือนพ.ค. 2567 จะมีความชัดเจนเรื่องการออกประกาศกรมศุลกากร เป็น กฎกระทรวงเกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่า (Low-Value Goods) ราคาไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งจะส่งผลให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มในประเทศและแพลตฟอร์มต่างประเทศ รวมถึงบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากการขายสินค้าที่มีมูลค่าต่ำของผู้ขายในต่าง ประเทศให้แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย เพื่อนำส่งให้แก่กรมสรรพากรเป็นรายเดือนเช่นเดียวกันกับการขายสินค้าของผู้ขายในประเทศไทย

– สมาคมผู้ส่งออกข้าว เตรียมประกาศปรับเพิ่มเป้าหมายส่งออกทั้งปีเป็น 8 ล้านตัน อานิสงส์เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง คาดทั้ง ปีโกยรายได้เข้าประเทศเกือบ 2 แสนล้านบาท

– ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้จัดการแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงิน โดยกล่าวว่า BOJ ยังไม่เห็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การอ่อนค่าของเงินเยนจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในขณะนี้ แต่ BOJ จะยังคงจับตาสถานการณ์ต่าง ๆ ต่อไป

– บริษัท แปซิฟิก อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมนท์ (พิมโค) บริษัทจัดการด้านการลงทุนยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ เปิดเผยว่า ธนาคาร กลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง หลังปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งประวัติการณ์เมื่อเดือนมี.ค.

– สมาคมทองคำแห่งประเทศจีน (China Gold Association – CGA) เปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (26 เม.ย.) ว่า การ บริโภคทองคำของจีนเพิ่มขึ้น 5.94% ในไตรมาส 1/2567 (ม.ค.-มี.ค.) จากปีก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์สินทรัพย์ปลอดภัยที่ เพิ่มขึ้น

– ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 77.2 ในเดือนเม.ย. และ ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 77.9 จากระดับ 79.4 ในเดือนมี.ค.

– กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวด อาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนก.พ.และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.3% เช่นกันใน เดือนก.พ. และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

– นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเนชันไวด์กล่าวว่า ข้อมูลเงินเฟ้อที่ร้อนแรงจนถึงเดือนมี.ค.จะลดโอกาสของการปรับลดอัตรา ดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567

– นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 30 เม.ย. – 1 พ.ค. โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการ ประชุมครั้งนี้

– ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตรการว่างงานเดือน เม.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและ อัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือน มี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 67)

Tags: , ,